km

km
กิจกรรมการขับเคลื่อนการจัดการความรู้ในองค์กรของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ

วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ผู้นำ (Leader) และภาวะผู้นำ




เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ผู้นำ (Leader) เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งต่อความสำเร็จขององค์การทั้งนี้ เพราะผู้นำมีภาระหน้าที่ และความรับผิดชอบโดยตรงที่จะต้องวางแผนสั่งการดูแล และควบคุมให้บุคลากรขององค์การปฏิบัติงานต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ปัญหาที่เป็นที่สนใจของนักวิชาการและบุคคลทั่วไปอยู่ตรงที่ว่า ผู้นำทำอย่างไรหรือมีวิธีการนำอย่างไรจึงทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้ตามเกิดความผูกพันกับงานแล้วทุ่มเทความสามารถ และพยายามที่จะทำให้งานสำเร็จด้วยความเต็มใจ ในขณะที่ผู้นำบางคนนำอย่างไร นอกจากผู้ใต้บังคับบัญชาจะไม่เต็มใจในการปฏิบัติงานให้สำเร็จอย่างมประสิทธิภาพแล้ว ยังเกลียดชังและพร้อมที่จะร่วมกันขับไล่ผู้นำให้ไปจากองค์การ ]


ความหมายของผู้นำ เพื่อให้เข้าใจภาวะผู้นำ (Leadership) และผู้นำ (Leader) ดีขึ้น จึงเสนอความหมายของผู้นำ (Leader) ไว้ดังนี้ ผู้นำ คือ บุคคลที่มีความ สามารถในการใช้อิทธิพลให้คนอื่นทำงานในระดับต่าง ๆ ที่ต้องการให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ (McFarland,1979:214-215) ผู้นำ คือ ผู้ที่สามารถในการชักจูงให้คนอื่นทำงานให้สำเร็จตามต้องการ (Huse, 1978:227) ผู้นำ คือ บุคคลที่มีอิทธิพลสูงสุดในกลุ่ม และเป็นผู้ที่ต้องปฏิบัติภาระหน้าที่ของตำแหน่งผู้นำที่ได้รับมอบหมายบุคคลอื่นในกลุ่มที่เหลือก็คือผู้ตาม แม้จะเป็นหัวหน้ากลุ่มย่อย หรือผู้ช่วยในการปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ก็ตาม (Yukl, 1989:3-4)


ผู้นำ คือ บุคคลที่มาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง หรือการยกย่องขึ้นมาของกลุ่ม เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะและช่วยเหลือให้กลุ่มประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ กวี วงศ์พุฒ (2535: 14-15) ได้สรุปแนวคิดเกี่ยวกับผู้นำไว้ 5 ประการ คือ (1) ผู้นำ หมายถึง ผู้ซึ่งเป็นศูนย์กลางหรือจุดรวมของกิจกรรมภายในกลุ่ม เปรียบเสมือนแกนของกลุ่ม เป็นผู้มีโอกาสติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นมากกว่าทุกคนในกลุ่ม มีอิทธิพลต่อการ ตัดสินใจของกลุ่มสูง (2) ผู้นำ หมายถึง บุคคลซึ่งนำกลุ่มหรือพากลุ่มไปสู่วัตถุประสงค์หรือสู่จุดหมายที่วางไว้ แม้แต่เพียงชี้แนะให้กลุ่มไปสู่จุดหมายปลายทางก็ถือว่าเป็นผู้นำทั้งนี้รวมถึงผู้นำที่นำกลุ่มออกนอกลู่นอกทางด้วย (3) ผู้นำ หมายถึงบุคคลซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่คัดเลือกหรือยกให้เขาเป็นผู้นำของกลุ่มซึ่งเป็นไปโดยอาศัยลักษณะทางสังคมมิติของบุคคลเป็นฐาน และสามารถแสดงพฤติกรรมของผู้นำได้ (4) ผู้นำหมายถึงบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะบางอย่างคือสามารถสอดแทรกอิทธิพลบางประการอันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มได้มากที่สุด (5) ผู้นำ หมายถึง บุคคลผู้ซึ่งสามารถนำกลุ่มไปในทางที่ต้องการ เป็นบุคคลที่มีส่วนร่วมและเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการแสดงบทบาทหรือพฤติกรรมความเป็นผู้นำ บุญทัน ดอกไธสง (2535:266) ได้สรุปเกี่ยวกับผู้นำไว้ว่า ผู้นำ (Leader) หมายถึง (1) ผู้มีอิทธิพล มีศิลปะ มีอิทธิพลต่อกลุ่มชน เพื่อให้พวกเขามีความตั้งใจที่จะปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายตามต้องการ (2) เป็นผู้นำและแนะนำ เพราะผู้นำต้องคอยช่วยเหลือกลุ่มให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดตามความสามารถ (3) ผู้นำไม่เพียงแต่ยืนอยู่เบื้องหลังกลุ่มที่คอยแต่วางแผนและผลักดัน แต่ผู้นำจะต้องยืนอยู่ข้างหน้ากลุ่ม และนำกลุ่มปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมาย สรุปได้ว่า ผู้นำ (Leader) คือบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งหรือการเลือกตั้งหรือการยกย่องจากกลุ่มให้ทำหน้าที่ของตำแหน่งผู้นำ เช่น การชี้แนะ สั่งการ และช่วยเหลือให้กลุ่มสามารถปฏิบัติงานได้สำเร็จตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ได้มีการเขียนชื่อผู้นำแตกต่างกันออกไปตามลักษณะงานและองค์การที่อยู่ เช่น ผู้บริหาร ผู้จัดการ ประธานกรรมการ ผู้อำนวยการ อธิการบดี ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้ว่าราชการ นายอำเภอ กำนัน เจ้าคณะจังหวัด เจ้าอาวาส ปลัดกระทรวง คณบดี
ความแตกต่างระหว่างผู้นำและผู้จัดการ
ความแตกต่างระหว่างผู้นำและผู้จัดการในองค์การของรัฐส่วนใหญ่จะเรียก "ผู้นำหรือผู้บริหาร" ส่วนองค์การธุรกิจนิยมเรียก "ผู้จัดการ" (Management) ได้มีการศึกษาลักษณะของ "ผู้นำ" (Leaders)และ "ผู้จัดการ" (Managers) มานานแล้ว และพบว่าบุคคลทั้งสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันหลายด้านเช่น แรงจูงใจ ความเป็นมา วิธีคิด และการปฏิบัติงาน ดังที่นักศึกษาวิจัยสรุปไว้ดังต่อไปนี้ เบนนิส และนานัส (Bennis and Nanus, 1985 : 21) ได้สรุปว่า
"ผู้จัดการคือ บุคคลที่ทำให้งานสำเร็จ ส่วนผู้นำคือ บุคคลที่ทำสิ่งต่าง ๆ ให้ถูกmanagers are people who do things right and leaders are people who do the right things"
หมายความว่า ผู้จัดการ คือ บุคคลที่สนใจแต่จะหาวิธีการทำให้งานที่ได้รับมอบให้สำเร็จ โดยไม่ได้ให้ความสนใจสิ่งอื่นใดต่างจากผู้นำที่จะต้องพิจารณาความถูกต้องของงานรวมทั้งผลกระทบต่อบุคลากรและองค์การ ก่อนที่จะดำเนินการให้เกิดผลดีที่สุด
รอบบินส ์ (Robbins, 1989 : 303) ได้อ้างถึงการศึกษาของซาเลสนิค (Zalesnik, 1986 : 54)และสรุปความแตกต่างของบุคคลสองกลุ่มไว้ดังนี้ 1. ผู้จัดการมีแนวโน้มที่จะยอมรับและปฏิบัติตามเป้าหมายขององค์การ โดยไม่เอาความรู้สึกส่วนตัวไปพิจารณา หรือเกี่ยวข้องด้วย ในขณะที่ผู้นำจะเอาความรู้สึกส่วนตัวมาพิจารณาเป้าหมายขององค์การก่อนที่จะปฏิบัติตาม 2. ผู้จัดการจะมองการทำงานว่าเป็นกระบวนการความสามารถ ที่ประกอบไปด้วยคนและความคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อสร้างสรรค์ วิธีการทำงานและตัดสินใจที่ดีที่สุดในขณะที่ผู้นำ ทำงานในตำแหน่งที่มีความเสี่ยงสูง ต้องพยายามไม่ใช้อารมณ์เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและอันตราย ที่อาจจะเกิดกับตนเอง โดยเฉพาะผู้นำที่อยู่ในตำแหน่งที่มีโอกาส และสิ่งตอบแทนค่อนข้างสูง 3. ผู้จัดการชอบที่จะทำงานร่วมกับบุคคลอื่นมากกว่าการทำงานใด ๆ ด้วยตนเอง คนเดียว เพราะไม่ต้องการมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับงานนั้น ผู้จัดการจะมีความสัมพันธ์เฉพาะกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกันในกระบวนการทำงานหรือกระบวนการตัดสินใจต่างกับผู้นำที่งานมักจะเกี่ยวข้องกับความคิดมากกว่าคน แต่ถ้ามีความสัมพันธ์กับบุคคลต่าง ๆ ก็จะมีโดยสามัญสำนึก และพยายามจะเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของบุคคลเหล่านั้นด้วย 4. ผู้จัดการต้องการคำสั่งหรือคำชี้แนะที่ชัดเจน เมื่อต้องเผชิญกับการตัดสินใจ หรือ เหตุการณ์ที่จะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นจำนวนมาก ในขณะที่ผู้นำมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจ ได้ โดยไม่ห่วงกังวลว่าจะกระทบต่อบุคคลรอบข้างมากนัก

ยุทธศาสตร์สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ


วิสัยทัศน์ (Vission)
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ เป็นหน่วยนำของจังหวัดสมุทรปราการในการส่งเสริมและพัฒนาการบริหารจัดการชุมชน ให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใน ปี ๒๕๕๔ ”
พันธกิจ (Mission)
๑. ส่งเสริมและพัฒนาผู้นำ กลุ่ม องค์กร เครือข่าย ให้มีศักยภาพและมีการรวมพลังในการบริหารจัดการชุมชน
๒. ส่งเสริมระบบการบริหารจัดการชุมชนให้เข้มแข็ง
๓. ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
เป้าประสงค์ (Goals)
๑. ชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
๒. ผู้นำ กลุ่ม องค์กร และเครือข่าย มีการรวมพลัง สร้างพลังในการบริหารจัดการชุมชน
๓. บุคลากรมีสมรรถนะในการส่งเสริมและพัฒนาการบริหารจัดการชุมชนให้มีความเข้มแข็ง
ประเด็นยุทธศาสตร์ (Strategic Issues)
๑. การพัฒนาศักยภาพ ผู้นำ กลุ่ม องค์กร และเครือข่ายองค์กรชุมชน
๒. การส่งเสริมและพัฒนาการบริหารจัดการชุมชน
๓. การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
๔. การพัฒนาสมรรถนะบุคลากร
กลยุทธ์ (Strategy)
๑. พัฒนาศักยภาพ ผู้นำ กลุ่ม องค์กร และเครือข่ายองค์กรชุมชน
๒. ส่งเสริมการสร้างความสมานฉันท์ระหว่างผู้นำ กลุ่ม องค์กร และเครือข่ายองค์กรชุมชน
๓. สนับสนุนผู้นำ กลุ่ม องค์กร และเครือข่ายองค์กรชุมชน ให้มีส่วนร่วมและมีความสามารถในการขับเคลื่อนแผนชุมชน
๔. พัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาชุมชนทั้งระบบข้อมูลเพื่อการพัฒนาชนบท และระบบข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาผู้นำ กลุ่ม องค์กร และเครือข่ายองค์กรชุมชน
๕. ส่งเสริมการจัดการความรู้ของ ผู้นำ กลุ่ม องค์กร และเครือข่ายองค์กรชุมชน
๖. ส่งเสริมการจัดทำศูนย์เรียนรู้ชุมชน
๗. ส่งเสริมการดำเนินงานผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น (OTOP)
๘. ส่งเสริมการพัฒนาหมู่บ้านตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
๙. เพิ่มขีดสมรรถนะบุคลากร












คลังความรู้พัฒนาชุมชนสมุทรปราการ: ชื่อความรู้เรื่อง กลุ่มวิสาหกิจโฮมสเตย์บางน้ำผึ้ง...

คลังความรู้พัฒนาชุมชนสมุทรปราการ: ชื่อความรู้เรื่อง กลุ่มวิสาหกิจโฮมสเตย์บางน้ำผึ้ง...: "เจ้าของความรู้ นางมะลิ พูนสวัสดิ์ ตำแหน่ง ประธานกลุ่มวิสาหกิจโฮมสเตย์บางน้ำผึ้ง ที่อยู่ เลขที่ 5 หมู่ 3 บ้านบางน้ำผึ้ง ตำบลบางน้ำผึ้ง อำเ..."

วันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2553

คลังความรู้พัฒนาชุมชนสมุทรปราการ: KM จังหวัดกับสิ่งที่ผมค้นพบ(1)

คลังความรู้พัฒนาชุมชนสมุทรปราการ: KM จังหวัดกับสิ่งที่ผมค้นพบ(1): "ผมมารับราชการอยู่ภูธร(ชานกรุง)เกือบปีเเล้ว งานที่ต้องรับผิดชอบดำเนินการหลัก และเป็นงานที่ผมถนัดเเละอาสาทำทุกครั้งเมื่อมีโอกาส คือ การจัดการ..."

วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ความรู้เรื่อง เทคนิคการจัดหาเงินสมทบกองทุนพัฒนาเด็กชนบท


เจ้าของความรู้ นางสมใจ ลอยชื่น
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญ
สังกัด กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน
เบอร์โทรศัพท์ 089-921-8227
เป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ การช่วยเหลือเด็กยากจนและด้อยโอกาส
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2546
สถานที่เกิดเหตุการณ์ จังหวัดสมุทรปราการ

เมื่อต้นปี 2546 ดิฉันย้ายการปฏิบัติราชการจากอำเภอพระประแดง มาปฏิบัติราชการที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ โดยได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่นักวิชาการพัฒนาชุมชน 5 กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน รับผิดชอบงานองค์กร กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และงานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้ง รับผิดชอบการดำเนินงานกองทุนพัฒนาเด็กชนบทในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งจัดได้จัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 เพื่อเป็นกองทุนให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนอายุแรกเกิด ถึง 6 ปี ที่ยากจนและด้อยโอกาส ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนได้มอบหมายให้ทุกจังหวัดดำเนินการ ดิฉันเคยได้รับผิดชอบงานนี้มาก่อนแต่เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำดิฉันก็ตั้งใจจะทำให้ดีที่สุด เสน่ห์ของการดำเนินงานกองทุนพัฒนาเด็กชนบท คือ ทำแล้วมีความสุขที่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาส โจทย์ที่ดิฉันตั้งไว้ คือ จะทำอย่างไรจึงจะหาเงินเข้าสมทบกองทุนให้ได้มากที่สุด เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือเด็กยากจนและด้อยโอกาสของจังหวัดตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ
เมื่อรับผิดชอบงานกองทุนพัฒนาเด็กชนบทของจังหวัดฯ ประเด็นแรกของดิฉันในการศึกษางานนี้ คือ สืบค้นแฟ้มงานที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่โครงการกิจกรรมจัดหาทุน การใช้จ่ายเงินทุนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ พร้อมทั้งศึกษาระเบียบแนวทางปฏิบัติและหนังสือสั่งการของกรมการพัฒนาชุมชนโดยละเอียดพร้อมทั้งปรึกษาผู้บังคับบัญชาทำให้ดิฉันมีความเข้าใจการดำเนินงานกองทุนพัฒนาเด็กชนบทมากขึ้น
จากการศึกษาพบว่า เงินกองทุนได้มาจากการจัดงานทอดผ้าป่าสมทบกองทุนพัฒนาเด็กชนบทปีละ 1 ครั้ง ได้เงินประมาณ 5 – 6 หมื่นบาท จัดตั้งตู้รับบริจาคสมทบกองทุนตามห้างสรรพสินค้าและธนาคารภายในจังหวัด จากนั้นดิฉันก็นำข้อมูลที่ได้มาประยุกต์ใช้และวางแผนการดำเนินงานกองทุนพัฒนาเด็กฯ โดยได้ปรึกษาหารือกับผู้บังคับบัญชา และได้ออกไปติดตามดูว่าตู้บริจาคตั้งอยู่ที่ไหนบ้างและได้ไปพบกับผู้บริหารหรือผู้แทนของสถานที่ที่เราไปตั้งตู้รับบริจาค และขอความร่วมมือสนับสนุนการจัดหาทุน ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี การดำเนินงานไม่ใช่ว่าจะสำเร็จราบรื่นเสมอไป สถานประกอบการ / ธนาคารบางแห่ง มีการส่งคืนตู้บริจาคโดยให้เหตุผลว่าเป็นนโยบายของผู้บริหาร และทำบันทึกเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดประสานสถานประกอบการ / ธนาคารอื่น ๆ ขอจัดวางตู้รับบริจาค โดยในครั้งแรกก็ประสานโดยวาจาก่อนถ้าเขาไม่ขัดข้องก็ทำเป็นหนังสือโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ลงนาม ขณะนี้มีตู้รับบริจาคที่วางตามห้างสรรพสินค้าและธนาคาร จำนวน 11 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 3 แห่ง และเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา ดิฉันได้ไปประสานห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส สาขาศรีนครินทร์ ขอวางตู้รับบริจาคฯ ครั้งแรกไปประสานด้วยวาจา และได้ทำหนังสือจากผู้ว่าราชการจังหวัดไปประสานอีกครั้ง ทางผู้บริหารห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส สาขาศรีนครินทร์ไม่ขัดข้องและอนุญาตให้จัดวางตู้รับบริจาครวมทั้งได้จัดกิจกรรม “มื้อนี้ พอเพียง” ขึ้นที่ศูนย์อาหารห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส สาขาศรีนครินทร์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 และมีความประสงค์จะมอบเงินสมทบกองทุนพัฒนาเด็กชนบทในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุนต่อไป โดยได้เรียนเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ (นายสุรชัย ขันอาสา) ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเด็กชนบทในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จังหวัดสมุทรปราการ เป็นผู้รับมอบ ปัจจุบันจังหวัดสมุทรปราการมีเงินสมทบกองทุนทั้งสิ้น 1,685,899.31 บาท (หนึ่งล้านหกแสนแปดหมื่นห้าพันแปดร้อยเก้าสิบเก้าบาทสามสิบเอ็ดสตางค์) และในปี 2552 ได้ให้ความช่วยเหลือเด็กยากจนและด้อยโอกาสจำนวน 128 ทุน ๆ ละ 1,200 เป็นเงิน 153,600 บาท(หนึ่งแสนห้าหมื่นสามพันหกร้อยบาทถ้วน)
ดิฉันมีความภาคภูมิใจมากที่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการจัดหาทุนและสามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องของการจัดหาเงินเข้ากองทุนได้สำเร็จ
ขุมความรู้
1. สืบค้นรายละเอียดจากแฟ้มงานและศึกษาให้เข้าใจ
2. วางแผนการดำเนินงาน
3. แสวงหาความร่วมมือจากภาคีการพัฒนา
4. ปรึกษาหารือกับผู้บังคับบัญชา
5. ประสานโดยวาจาก่อนถ้าเขาไม่ขัดข้องก็ทำเป็นหนังสือ
6. จัดตั้งตู้รับบริจาคสมทบกองทุนตามห้างสรรพสินค้าและธนาคารภายในจังหวัด
7. ทำบันทึกเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดประสานสถานประกอบการ / ธนาคารอื่น ๆ ขอจัดวางตู้รับบริจาค
แก่นความรู้
1. ศึกษา เรียนรู้
2. มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
3. ให้ผู้มีจิตศรัทธาเข้าร่วมจำเนินกิจกรรม
4. ประสานงาน
5. สรุปรายงาน
ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินงานกองทุนพัฒนาเด็กชนบทในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จังหวัดสมุทรปราการ

ความรู้เรื่อง เทคนิค (ง่าย ๆ ) การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต


เจ้าของความรู้ นางฉันทนา จรัลชวนะเพท
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน
แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ ความยากจน
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ ปี 2548
สถานที่เกิดเหตุการณ์ จังหวัดสมุทรปราการ

กรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการให้มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตตั้งแต่ปี 2517 วัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้าน / ชุมชน ได้รู้จักการออมและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยยึดคุณธรรม 5 ประการ คือ 1. ซื่อสัตย์ 2. เสียสละ 3. รับผิดชอบ 4.มีความไว้วางใจ และ 5. มีความเห็นอกเห็นใจ
ในปี พ.ศ. 2548 ข้าพเจ้าได้ขอไปปฏิบัติหน้าที่พัฒนากรที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบประสานงานตำบลบางกอบัวและตำบลบางกะเจ้า ซึ่งทั้ง 2 ตำบล มีผู้นำท้องถิ่น ผู้นำองค์กรชุมชนเข้าแข็งมาก และสภาพภูมิประเทศจะเป็นเขตเมือง ซึ่งโดยส่วนใหญ่ถ้าเราทำงานพัฒนาชุมชนในเขตเมืองจะมีความรู้สึกว่าทำงานยาก แต่ข้าพเจ้าโชคดีที่มีผู้นำชุมชนกลุ่ม องค์กร ที่ได้การสนับสนุนในการดำเนินงาน และจากการสำรวจข้อมูลของหมู่บ้านของทั้ง 2 ตำบล ยังไม่มีการดำเนินงานจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จึงได้พูดคุยกับกลุ่มองค์กร ผู้นำชุมชน หรือสอดแทรกเรื่องการออมทรัพย์ฯ ทุกครั้งในการประชุมหรือการจัดกิจกรรมของหมู่บ้าน โดยแรก ๆ ก็ยังมีท่าทีหรือไม่อยากดำเนินการ เพราะบางคนก็เป็นสมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์ฯ ของตำบลบางน้ำผึ้งและตำบลใกล้เคียงแล้วหรือตำบลบางกะเจ้าก็เคยมีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ฯ แต่ต้องยกเลิกไป(สาเหตุอะไรจะไม่กล่าวถึง) ข้าพเจ้าก็คิดว่าจะทำอย่างไรดี จะได้มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ฯ ได้ ทั้งเป็นงานนโยบายที่ต้องทำและเป็นการส่งเสริมให้หมู่บ้าน / ตำบล ได้รู้จักการออม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งตามเกณฑ์การประเมินหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ และเป็นการฝึกการออมให้เป็นนิสัยเพื่อเป็นทางเลือกในการออมไว้ให้ลูกหลานหรือนำไปใช้เป็นทุนประกอบอาชีพต่อไป
“ความยากจนอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” คตินี้ยังใช้ได้ผลอยู่เพราะข้าพเจ้าได้พยายามที่จะพูดคุยและจัดให้มีการประชุมผู้นำชุมชนและชาวบ้านที่สนใจอยู่หลายครั้ง ทั้งที่ต้องเสียสละวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ในการประชุม(การประชุมเราจะไม่ชี้นำว่าต้องจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตให้ได้ ให้เป็นผลความต้องการของเขาเท่านั้น) ในที่สุดทั้ง 2 ตำบลก็มีความเห็นพ้องกันว่าจะจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตของตำบลเพราะอยากให้มีการดำเนินงานและประสบผลสำเร็จเหมือนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตของตำบลอื่นที่เขาประสบผลสำเร็จในการบริหารงานจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันกลุ่มออมทรัพย์ฯ ตำบลบางกอบัวและตำบลบางกะเจ้าได้ดำเนินการมาแล้ว 3 ปี ข้าพเจ้าก็รู้สึกดี ๆ กับการได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานในครั้งนี้และก็หวังว่ากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตของทั้ง 2 กลุ่ม จะได้รับการพัฒนาจนไปถึงการจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนต่อไป


ขุมความรู้
1. ศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง
2. ยึดแนวทางการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตของกรมการพัฒนาชุมชน
3. พูดคุยกับกลุ่มองค์กร ผู้นำชุมชน หรือสอดแทรกเรื่องการออมทรัพย์ฯ ทุกครั้ง
4. พยายามที่จะพูดคุยและจัดให้มีการประชุมผู้นำชุมชนและชาวบ้านที่สนใจ
5. เสียสละวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ในการประชุม


แก่นความรู้
1. ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง
2. ให้ชาวบ้านเป็นผู้ตัดสินใจในการดำเนินงาน
3. ยึดแนวทางการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตของกรมการพัฒนาชุมชน

ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
· ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง
· แนวทางการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตของกรมการพัฒนาชุมชน
· เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

กลยุทธ์ ศึกษา ยึดแนวทางกรมฯ ชี้แจง สอดแทรกและกระตุ้นให้คิด

วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ความรู้เรื่อง เทคนิคการส่งเสริมการมีส่วนร่วมชุมชน


เจ้าของความรู้ นายวิโรจน์ บุณยรัตพันธุ์
ตำแหน่ง พัฒนาการอำเภอบางพลี
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางพลี
เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวก ๐๘๑-๕๕๒-๓๖๙๑ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ ปี ๒๕๕๑
สถานที่เกิดเหตุการณ์ หมู่ที่ ๙ ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
๑) ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอน
ในปี ๒๕๕๑ การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในหมู่บ้านของบ้านบางพลีหมู่ที่ ๙ ตำบลบางพลีใหญ่ซึ่งเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีทั้งหมดถึง ๒,๙๖๘ ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด ๕,๘๐๑ คน เป็นชาย ๒,๘๑๖ คน และหญิง ๒,๙๘๕ คน มีองค์ประกอบในด้านองค์กรและกลุ่มต่าง ๆ มากมายกระจายอยู่ในหมู่บ้านรวมทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ เช่น กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและอื่นๆในทุกกิจกรรมทางผู้นำชุมชนและองค์กรต่างๆจะเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอนโดยยึดหลักประชาธิปไตยในการทำงาน โดยใช้เวทีประชาคมเป็นเวทีตัดสินใจ กิจกรรมของกลุ่มต่างๆในหมู่บ้านมีการเลือกคณะกรรมการขึ้นมาบริหารงานโดยใช้ศูนย์เรียนรู้ชุมชน เป็นสถานที่นัดหมาย พบปะ และทำกิจกรรมร่วมกันเป็นประจำ
วิธีการทำงานและเทคนิคของผู้นำและแกนนำของหมู่บ้าน นอกจากจะเน้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแล้ว ผู้นำจะปฏิบัติตนเป็นตัวอย่าง เช่น การตรงต่อเวลา การให้บริการอาหาร เครื่องดื่มแก่ผู้มาร่วมงานพัฒนาของชุมชน การใช้หอกระจายข่าวในการสื่อสารกับประชาชนในหมู่บ้าน การกำหนดจัดประชุมประชาชนในหมู่บ้านทุกต้นเดือนเพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมาจากทางราชการ นอกจากนั้นยังให้การศึกษาแก่คนในชุมชนด้วยการส่งแกนนำของหมู่บ้าน และประชาชนในหมู่บ้านไปเข้ารับการฝึกอบรมและศึกษาดูงานจากหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรเอกชนอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ประชาชนในหมู่ที่ ๙บ้านบางพลี มีประสบการณ์และความรู้สามารถนำมาปรับใช้ในชุมชนได้เป็นอย่างดี
๒) ดำเนินกิจกรรมตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ในบ้านบางพลีหมู่ที่ ๙ ตำบลบางพลีใหญ่ ทุกครัวเรือนจะได้รับการประชาสัมพันธ์ทางเสียงตามสาย เอกสารและด้านๆต่างอยู่เป็นประจำในการดำรงชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จนทำให้ทุกครัวเรือนมีความรู้ความเข้าใจเป็นเป็นอย่างสามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิต ทำให้เกิดการลดค่าใช้จ่ายและเหลือขายเป็นรายได้ ลดอบายมุข เป็นสมาชิก
๓) การรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาอาชีพหลักของหมู่บ้านและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ประชาชนชาวบ้านบางพลีรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มเพื่อพัฒนาอาชีพหลักของหมู่บ้านที่หลากหลายกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ซึ่งสวัสดิการมีเงินฉุกเฉินให้ยืมในยามที่สมาชิกมีความจำเป็น เช่น ป่วยไม่มีเงินไปหาหมอ ค่าเทอมลูก จะให้ยืมทุกกรณีที่มีความจำเป็น ๔) จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความสามัคคี
ช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ในทุกๆปี บ้านบางพลีหมู่ที่ ๙ ตำบลบางพลีใหญ่ จะจัดให้มีการทำบุญเลี้ยงพระ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ มอบเครื่องอุปโภค บริโภค แก่ผู้สูงอายุ ,ในวันพ่อทุกวันที่ 5 ธันวาคม ในตอนเช้าเช้าจัดให้กิจกรรมการพัฒนาหมู่บ้านสำหรับในภาคค่ำ จัดให้มีกิจกรรมจุดเทียนชัยถวายพระพร,ทำบุญวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคมของทุกปีและจัดกิจกรรม แข่งขันกีฬาในหมู่บ้านเพื่อสร้างความสามัคคี
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ระดับ “อยู่ดี กินดี”
ปัจจัยภายใน
การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนซึ่งนับว่าเป็นทุนทางสังคมของบ้านบางพลีหมู่ที่ ๙ ตำบลบางพลีใหญ่ ที่มีทั้งภูมิปัญญา ความเอื้ออาทร วัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันฉันญาติมิตรที่เอื้อเฟื้อแบ่งปันกันทำให้การดำเนินงานในชุมชนเป็นไปด้วยความราบรื่น คนในชุมชนจะให้ความร่วมมือและเข้ามามีส่วนร่วมสูง การมีส่วนร่วมในการคิด
มีการจัดเวทีประชาคม เพื่อจัดทำแผนชุมชน จากการจัดเวทีประชาคมดังกล่าวทำให้ประชาชนได้เล็งเห็นถึงปัญหาของชุมชนและปัญหาของประชาชนในหมู่บ้าน จึงได้ร่วมกับกำหนดแนวทาง และกิจกรรมโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาโดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหา เช่น การสนับสนุนเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุ / คนพิการ การจัดให้มีอาชีพเสริม, การปลูกต้นไม้ริมถนนการรณรงค์ลดอบายมุข การจัดทำบัญชีครัวเรือน การปลูกพืชผักไว้กินเอง การลดรายจ่าย / การออมเงิน การมีส่วนร่วมในการวางแผน
ประชาชน และผู้นำชุมชนบ้านบางพลีหมู่ที่ ๙ ตำบลบางพลีใหญ่ ได้ร่วมกันวางแผนการดำเนินกิจกรรมของชุมชนโดยใช้เวทีประชาคมเป็นการตัดสินใจในทุกกิจกรรม ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นกันได้อย่างหลากหลาย
มีส่วนร่วมในการดำเนินงาน
ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆของหมู่บ้าน ประชาชนและผู้นำชุมชนบ้านบางพลี หมู่ที่ ๙ ตำบลบางพลีใหญ่ ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เช่น การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชนในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะเข้าร่วมประชุมเพื่อรับทราบแนวทางปฏิบัติ มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ พร้อมจัดทำแผนการปฏิบัติตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งประชาชนได้มีส่วนร่วมโดยการดำเนินงานตามแผนที่ได้ร่วมกันวางแผนไว้ เช่น การทำของใช้เพื่อใช้เอง ในครัวเรือน เพื่อเป็นการลดรายจ่าย และการออมเงินกับกลุ่มออมทรัพย์ ในหมู่บ้าน เป็นต้น
การมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์
การทำกิจกรรมในหมู่บ้านประชาชนจะได้รับผลประโยชน์โดยตรง เช่น การที่ผู้นำชุมชน คณะกรรมการพัฒนาสตรี และประชาชนในหมู่บ้านได้ร่วมกันประสานหน่วยงานภาครัฐ จัดกิจกรรม ถ่ายทอดภูมิปัญญาให้กับประชาชน และเยาวชนในหมู่บ้าน เช่น การฝึกอาชีพ,การทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ ทำให้ประชาชนมีอาชีพเสริม ก่อให้เกิดรายได้ และลดต้นทุนการผลิต การทำกิจกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่บรรจุไว้ในแผนชุมชนที่คนในชุมชนได้ร่วมกันคิดร่วมกันวางแผน
การมีส่วนร่วมในการประเมินผล
ด้วยสภาพทางสังคมของบ้านบางพลีหมู่ที่ ๙ ตำบลบางพลีใหญ่ ที่มีลักษณะทางสังคมเป็นสังคมเมืองผู้นำชุมชนและประชาชนในหมู่บ้าน จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันกันน้อยมาก การติดตามผล การดำเนินงานกิจกรรมต่างๆของหมู่บ้านส่วนมากจะมาจากการประชาสัมพันธ์ทางเสียงตามสาย และเอกสารเป็นส่วนใหญ่ทำให้ทราบผลของการดำเนินกิจกรรมต่างๆได้ยากเว้นแต่กิจกรรมที่สำคัญมากจึงจะนำเข้า ที่ประชุมประจำเดือนของหมู่บ้าน
ปัจจัยภายนอก
นโยบายของรัฐบาลตลอดจนกิจกรรมต่างส่วนราชการของอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการให้การสนับสนุน และให้คำแนะนำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง
สรุปผลการพัฒนาหมู่บ้าน
จุดเด่นของบ้านบางพลีหมู่ที่ ๙ ตำบลบางพลีใหญ่
๑. การพัฒนาคน บ้านบางพลีหมู่ที่ ๙ ตำบลบางพลีใหญ่ ได้มีการพัฒนาคนในชุมชนโดยการส่งแกนนำหมู่บ้านไปฝึกอบรมกับหน่วยงานราชการและเอกชนอย่างสม่ำเสมอทำให้แกนนำในหมู่บ้านมีวิสัยทัศน์ มีความคิดก้าวหน้า มีภาวะผู้นำสูง มีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ สามารถวิเคราะห์ปัญหา มีการวางแผนดำเนินงาน และนำความรู้มาใช้ในการพัฒนาหมู่บ้านได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้มีผลงานปรากฏเป็นรูปธรรมชัดเจน
๒. การพัฒนาแผนชุมชน
ในการจัดทำแผนชุมชนของบ้านบางพลี หมู่ที่ ๙ ตำบลบางพลีใหญ่ ได้มีการนำผลวิเคราะห์ จปฐ. กชช2ค. และบัญชีครัวเรือนนำใช้ในการจัดทำแผนประกอบกับความคิดเห็นในเวทีประชาคม โดยมีส่วนราชการอื่น ๆและ อบต. เข้าไปมีส่วนร่วม โดยกิจกรรม/โครงการของแผนชุมชนได้ถูกผลักดันโดยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต.และผู้นำ อช. ได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนา อบต. มากกว่าร้อยละ ๒๐ และเข้าสู่กระบวนการตั้งข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีของ อบต. เพื่อดำเนินโครงการสนองตอบปัญหาและความต้องการของชุมชนได้จริง
จากผลการดำเนินงานของบ้านบ้านบางพลี หมู่ที่ ๙ ตำบลบางพลีใหญ่ ที่ดำเนินการโดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ และการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการพัฒนาหมู่บ้านบนพื้นฐานการพึ่งตนเองเป็นหลักรวมทั้งการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่องส่งผลให้หมู่บ้านประสบความสำเร็จโดยมีรางวัลแห่งความสำเร็จของหมู่บ้าน ดังนี้
๑. หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” รองชนะเลิศระดับ ๒ จังหวัดประจำปี ๒๕๕๑ ๒.แผนชุมชน ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับจังหวัด ประจำปี ๒๕๕๑

วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน(จปฐ.)กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวสมุทรปราการ







โดย กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ
“การดำเนินงานการพัฒนา แต่ก่อนใช้วัดด้วยสายตาบ้าง เฉลี่ยไปตามความคิดเห็นที่ไม่เป็นเชิงสถิติบ้าง ทำไปเรื่อย ๆ บ้าง แต่ตอนนี้ทางราชการมีการสำรวจข้อมูล จปฐ. เป็นข้อมูลที่คิดว่าในขณะนี้ดีที่สุดแล้ว ดีในการ เป็นฐานให้เริ่มต้นแก้ไขปัญหา เป็นข้อมูลที่ง่ายดูง่าย และเห็นด้วยที่มีการสำรวจข้อมูล จปฐ. มีการวัดเพื่อให้พบ ปัญหา ซึ่งเมื่อรู้ปัญหาแล้วจะได้มีการแก้ไข สำหรับการวัดนั้น จะตรงหรือไม่ตรง แน่นอนต้องมีการผิดพลาดบ้าง ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ ขอให้มีสิ่งที่จะช่วยให้ฝ่ายรัฐเข้าไปหาชาวบ้าน ได้ทราบปัญหาของชาวบ้านบ้างเมื่อเราทำจริง สำรวจจริงแล้ว จะทำให้พบกับบุคคลที่ควรสงเคราะห์ หรือทำให้พบปัญหา และเมื่อพบปัญหาแล้วจะแก้ไขอย่างไรเป็นสิ่งที่จะตามมา หลักการพัฒนาที่ควรจะคำนึงถึงคือ ช่วยเขาเพื่อให้เขาช่วยตัวเองได้ การให้คำแนะนำเพื่อให้ชาวบ้านได้เรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง จึงเป็นสิ่งสำคัญ”
พระราชกระแสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะกรรมการอำนวยการงาน พชช. และเจ้าหน้าที่เข้าเฝ้าถวายรายงานคุณภาพชีวิตของคนไทย
ได้รับพระราชทานพระราชานุญาต ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ
ที่ รล 0017/10527 ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2534




ในปัจจุบันสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้มนุษย์เราต้องมาปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการใช้ชีวิตให้สอดคล้อง และรองรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในสังคมหนึ่งๆ จะต้องมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันภายใต้ความแตกต่างกันทั้ง อายุ, รายได้, ระดับการศึกษา, รสนิยม และเป้าหมายในการดำเนินชีวิต การพัฒนาคุณภาพชีวิตจึงเป็นการสร้างรากฐานของระดับการดำรงชีวิตของคนให้ดีขึ้น โดยการให้ความรู้ ส่งเสริมคุณธรรม ส่งเสริมสุขภาพอนามัยและส่งเสริมการประกอบอาชีพ และส่งเสริมการดำรงตนอย่างมีคุณค่านำไปสู่สังคมแห่งความสุข การพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ “ข้อมูล” เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนา โดยเฉพาะข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานที่บ่งชี้ว่า คนในสังคมมีความเป็นอยู่อย่างไร มีปัญหาความต้องการอะไรบ้าง มีปัญหาเพื่อรอการแก้ไขอย่างไร เพื่อเป็นทิศทางการพัฒนาสังคมน่าอยู่ ดังพระราชกระแสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะกรรมการอำนวยการงาน พชช. และเจ้าหน้าที่เข้าเฝ้าถวายรายงานคุณภาพชีวิตของคนไทยนั่นเอง
ข้อมูลข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน(จปฐ.) คือ ข้อมูลในระดับครัวเรือนที่แสดงถึงสภาพความจำเป็นของคนในครัวเรือนในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตที่ได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำเอาไว้ว่า คนควรจะมีคุณภาพชีวิตในเรื่องนั้น ๆ อย่างไร ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้มีชีวิตที่ดีและสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และประการสำคัญข้อมูลบ่งบอกคุณภาพชีวิตของเราทุกคนได้ เป็นข้อมูลที่แสดงถึงลักษณะของสังคมไทยที่พึงประสงค์ ตามเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำของเครื่องชี้วัด รวมทั้งบอกมีปัญหาที่จะต้องแก้ไข เป็นการส่งเสริมให้ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเอง ครอบครัว และสังคม อันเป็นนโยบายสำคัญในการพัฒนาชนบทของประเทศ

ข้อมูล จปฐ. กรมการพัฒนาชุมชนเป็นแกนหลักในการดำเนินการ จะจัดเก็บทุกปี เป็นข้อมูลในระดับครัวเรือนทุกครัวเรือนและเป็น ครัวเรือนที่อาศัยอยู่จริงในหมู่บ้านชุมชน วัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนในบ้านเรา สามารถพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองและครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างน้อยผ่านเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน โดยมีเครื่องชี้วัด จปฐ.เป็นเครื่องมือ ข้อมูล จปฐ. ประกอบด้วย 6 หมวด 42 ตัวชี้วัด ดังนี้
1. หมวดที่1 สุขภาพดี มี 13 ตัวชี้วัด
2. หมวดที่2 มีบ้านอาศัย มี 8 ตัวชี้วัด
3. หมวดที่3 ฝักใฝ่การศึกษา มี 7 ตัวชี้วัด
4. หมวดที่4 รายได้ก้าวหน้า มี 3ตัวชี้วัด
5. หมวดที่5 ปลูกฝังค่านิยมไทย มี 6 ตัวชี้วัด
6. หมวดที่6 ร่วมใจพัฒนา มี 5 ตัวชี้วัด






การจัดเก็บเรามีขั้นตอนโดยเริ่มจาก
1. จัดเก็บข้อมูลกับครัวเรือนเป้าหมายทุกครัวเรือน โดยผู้จัดเก็บคือคณะทำงานบริหารการจัดเก็บข้อมูลระดับตำบล ได้แก่ กรรมการหมู่บ้าน กรรมการชุมชน หัวหน้าคุ้ม สมาชิก อบต. หรืออาสาสมัคร โดยการสัมภาษณ์หัวหน้าครัวเรือน
2. ตำบลหรือเทศบาลจะติดตาม ตรวจสอบและรับมอบแบบสอบถามตามข้อมูลฯจากทุกหมูบ้าน ชุมชน รวบรวมบันทึก ประมวลผลและสำเนาแผ่นบันทึกข้อมูลส่งอำเภอ
3. ในขั้นตอนนี้อำเภอจะรับมอบตรวจสอบข้อมูลส่งให้จังหวัดพิจารณาตรวจสอบ
4. จากนั้นจังหวัดจะตรวจสอบความถูกต้อง ครบถ้วนและนำเสนอให้คณะกรรมการบริหารการจัดเก็บข้อมูลระดับจังหวัดซึ่งมีท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าคณะทำงานพิจารณาให้ความเห็นชอบ จัดส่งให้กรมการพัฒนาชุมชน
5. ขั้นตอนสุดท้าย กรมการพัฒนาชุมชนจะรวบรวมนำเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน (พชช.)ต่อไป
สำหรับการบริหารการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ของจังหวัดสมุทรปราการ ในปี 2553 จัดเก็บในเขตชนบท (อบต.) ทั้งหมด 6 อำเภอ 31 ตำบล 318 หมู่บ้าน 76,952 ครัวเรือน จำนวนประชากร ณ วันที่จัดเก็บจาก 76,952 ครัวเรือน รวม 214,870 คน แยกเป็น ชาย 104,010 คน หญิง 110,860 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป รายได้เฉลี่ย 79,117.06 บาท/คน/ปี












คุณภาพชีวิตของคนจังหวัดสมุทรปราการในเขตชนบท (อบต.) ตามตัวชี้วัด จปฐ. จำนวน 6 หมวด 42 ตัวชี้วัด มีตัวชี้วัดที่บรรลุเป้าหมาย จำนวน 29 ตัวชี้วัด และไม่บรรลุเป้าหมาย จำนวน 13 ตัวชี้วัด ดังนี้



2. ตำบลหรือเทศบาลจะติดตาม ตรวจสอบและรับมอบ


ตัวชี้วัดความจำเป็นพื้นฐานของชาวสมุทรปราการที่ไม่บรรลุเป้าหมาย หมวดที่ 1 สุขภาพดี ได้แก่ เด็กแรกเกิดมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 2, 500 กรัม, เด็ก 6-15 ปีเจริญเติบโตตามเกณฑ์มาตรฐาน, ครัวเรือนมีความรู้การใช้ยาถูกต้องเหมาะสม หมวดที่ 2 มีบ้านอาศัย ได้แก่ ครัวเรือนมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ครัวเรือนไม่ถูกรบกวนจากมลพิษ ครัวเรือนมีการป้องกันอุบัติภัยอย่างถูกวิธี ครัวเรือนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ครัวเรือนมีความอบอุ่น หมวดที่ 3 เด็กอายุ 6-15 ปี ได้รับการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี และหมวดที่ 5 คนในครัวเรือนไม่ติดสุรา คนอายุ 6 ปีขึ้นไป ปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา








จำนวนตัวชี้วัดที่ไม่บรรลุเป้าหมาย จำแนกรายอำเภอ
จากการสรุปข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานจะเห็นว่า ตัวชี้วัดหากแบ่งตามอำเภอ พบว่า อำเภอบางบ่อและอำเภอพระประแดงมีตัวชี้วัดที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา อำเภอละ 13 ตัวชี้วัด อำเภอบางพลี 12 ตัวชี้วัด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ และบางเสาธง อำเภอละ 5 ตัวชี้วัด และอำเภอเมืองสมุทรปราการ 1 ตัวชี้วัด สำหรับประเด็นที่ข้อมูล จปฐ.บ่งชี้และเป็นเกณฑ์ชี้วัดเศรษฐกิจของพี่น้องชาวสมุทรปราการ คือ รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี จากการสรุปผลการจัดเก็บข้อมูลพบว่ารายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของพี่น้องชาวสมุทรปราการ คือ 79, 117.06 บาท หากจำแนกเป็นรายอำเภอ รายได้ต่อคนต่อปี ปรากฏตามแผนภูมิ ดังต่อไปนี้






การบริหารการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ปรากฏข้อมูลโดยสรุป ตามที่กล่าวมาข้างต้น สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะทำงานบริหารการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ระดับจังหวัดฯ ได้สรุปและรวบรวมข้อมูลที่ผ่านความเห็นชอบ กลั่นกรองจากคณะทำงานฯระดับจังหวัด นำเสนอกระทรวงมหาดไทย พร้อมกับประกาศใช้เป็นข้อมูลเพื่อการพัฒนาชนบท ของพี่น้องชาวสมุทรปราการ อันจะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ถูกต้องตามปัญหาที่เกิดขึ้นและเป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้ในศักยภาพของครัวเรือน ชุมชนและสภาพปัญหาโดยรวมของพี่น้องชาวปากน้ำต่อไป อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้จะไม่เกิดประโยชน์เลยหากทุกหน่วยงานในจังหวัด ไม่ร่วมแรงร่วมใจนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จักต้องให้ความสำคัญและนำไปเป็นเครื่องมือในการวางแผนเพื่อขจัดปัญหาของพี่น้องของเราให้เกิดผลในเชิงรูปธรรมและสนองตอบความต้องการของมวลมหาประชาชนในพื้นที่ต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ
โทร. 0-2395-2161, 0-2395-4968 โทรสาร 0-2395-4968

ความรู้เรื่อง เทคนิคการทำงานเชิงบูรณาการเพื่อแก้จนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


เจ้าของความรู้ นายวิมล ทองก้อน
ตำแหน่ง พัฒนาการอำเภอเมืองสมุทรปราการ
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรปราการ
เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวก 08-9145-7993
เป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ คนว่างงานผู้มีรายได้น้อยผู้ด้อยโอกาส
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2551
สถานที่เกิดเหตุการณ์ ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ
ตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นในการพัฒนามนุษย์ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการบูรณาการ การพัฒนาของภาคีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชนและราชการ กรมการพัฒนาชุมชนเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มุ่งพัฒนามนุษย์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ และส่งเสริมการมีส่วนร่วม เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง และในปี พ.ศ. 2551 มีนโยบายในการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชุมชน ด้วยหลักพัฒนา 4 พ. คือ พัฒนาคน (people) พัฒนาพื้นที่ (place) พัฒนาแหล่งรายได้ของชุมชน (product) และ พัฒนาแผนชุมชน (planning) เพื่อ
มุ่งเน้นให้ชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนพึ่งตนเองได้ และครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข แต่ความเป็นจริง ในปัจจุบัน สังคมไทย ไม่ว่าในเมืองหรือชนบท ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความแตก
ต่างกันในความเป็นอยู่ และสภาพแวดล้อมของสังคม บางครอบครัวไม่มีความอบอุ่น สมาชิกบางรายหันไปพึ่งยาเสพติด ทำให้สังคมไม่ยอมรับ เป็นเหตุให้มีคนว่างงาน ไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง รายได้ไม่พอกับรายจ่าย พึ่งตนเองไม่ได้อย่างสมบูรณ์ ประกอบกับวิกฤตทางเศรษฐกิจตกต่ำ คนที่
เคยมีงานทำต้องตกงาน เนื่องจากโรงงานบางแห่งต้องปิดกิจการลง ซึ่งเป็นปัญหาหลักของสังคม
ข้าพเจ้า เป็นข้าราชการในสังกัดกรมการพัฒนาชุมชนคนหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการในระดับอำเภอ ตำแหน่ง พัฒนาการอำเภอเมืองสมุทรปราการ
จังหวัดสมุทรปราการ ได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จะทำอย่างไรเพื่อให้ประชาชนที่เดือดร้อน ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้มีอาชีพโดยเน้นหลักตามแนวพระราชดำรัส “หลักปรัชญาเศรษฐกิจ
พอเพียง “ ให้มีขึ้น เพื่อปลดเปลื้องสิ่งที่กำลังทำให้ชีวิตของประชาชนทั่วไปต้องแตกแยก หรือหลงผิด ทำในสิ่งที่อาจจะทำให้สังคมต้องเดือดร้อน
จากปัญหาและแนวคิดในฐานะบุคคลหนึ่งในหน่วยงานพัฒนาชุมชน ที่มุ่งในการ
พัฒนากระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วม ได้สำรวจข้อมูลว่า หน่วยงานเรามีสิ่งได้บ้างที่จะช่วย
เหลือประชาชนผู้เดือดร้อน คนว่างงาน ผู้ด้อยโอกาส หรือ ประชาชนทั่วไป ที่ต้องการพัฒนา
กระบวนการการเรียนรู้ จึงได้เล็งเห็นว่า สิ่งที่จะช่วยในการพัฒนาประชาชนที่ดีที่สุด คือ การฝึกอาชีพระยะสั้นให้ โดยเน้นด้านที่ไม่ต้องลงทุนมาก เป็นแบบแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ประกอบกับ ในพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ มี กลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนและ
ท้องถิ่น (OTOP) ที่หลากหลาย และ จำนวนมาก ข้าพเจ้าจึงได้นัดประชุมคณะกรรมการเครือข่าย
OTOP และ กลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP เพื่อร่วมกันพิจารณาให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย
ในที่ประชุมมีแนวคิดที่หลากหลาย บทสรุป เพื่อเป็นทางเลือกด้านการประกอบอาชีพ ให้แก่กลุ่มคนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ว่างงาน ผู้มีรายได้น้อย และผู้ด้อยโอกาส เพื่อยึดเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริมตามทักษะและความถนัดของตนเองและครอบครัวต่อไป จึงเห็นควรจัดทำโครงการ “จัดมหกรรมคาราวาน 30 อาชีพแก้จนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ขึ้น เพื่อให้ผู้ผลิต/ผู้
ประกอบการ OTOP จำนวน 30 อาชีพ เป็นผู้ฝึกอาชีพระยะสั้นให้แก่กลุ่มเป้าหมายเคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ในเขต อบต. จำนวน 5 อบต. และ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ แห่งละ 1 วัน รวม 6 วัน และได้ร่วมกันพิจารณาอาชีพที่ฝึกสอน ในการจัดงานครั้งนี้ จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่าย
ข้าพเจ้า จึงได้จัดทำ “โครงการมหกรรมคาราวาน 30 อาชีพแก้จนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ขึ้น ขอรับการสนับสนุนงบประมาณพัฒนาจังหวัดสมุทรปราการ และได้รับอนุมัติงบประมาณ เป็นเงิน 600,000 บาท (หกแสนบาทถ้วน) และได้ประชุมมอบหมายงานให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประสานงานกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนด้านสถานที่
และอุปกรณ์ที่จำเป็น ตลอดจนประชุมวางแผนในการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ได้ประชาสัมพันธ์ ทางสื่อ เคเบิ้ลทีวี วิทยุชุมชน แผ่นพับ และปิดป้ายประชาสัมพันธ์
ผลปรากฏว่า ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
การดำเนินงานประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง ทุกแห่งมีผู้เข้าร่วมฝึกอาชีพหลากหลาย จำนวน 4,852 ราย เกินเป้าหมายที่วางไว้ ในการฝึกอาชีพครั้งนี้ การให้ฟรี ไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้นจากผู้เข้ารับการฝึกอาชีพ ทำให้ ผู้ฝึกอาชีพปลื้มใจ พอใจ ที่งานครั้งนี้ออกมาด้วยดี ไม่มีปัญหาในการปฏิบัติงาน ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือประทับใจสุดๆ ผลทำให้ผู้ที่เข้ามาเรียนฝึกอาชีพ มีอาชีพเพิ่มเป็นหลักในการประกอบอาชีพ จนเป็นผลให้มีกลุ่มอาชีพเพิ่มขึ้นเป็นเครือข่าย OTOP อีกมากมาย ผลทางอ้อมทำให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่ร่วมในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายสินค้า

บันทึกขุมความรู้ (Knowledge Assets)

1. การสะสมข้อมูลตามสภาวะสถานการณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น
2. ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเพิ่มโอกาสในการแก้ไขปัญหา
3..ค้นหาแนวทางในการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหา โดยใช้กระบวนการเรียนรู้
และวางแผนแบบมีส่วนร่วม
4.เชื่อมโยงสร้างความสัมพันธ์กับทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินงานให้บรรลุ
เป้าหมาย
5.สร้างและใช้ระบบเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน
6.มอบหมายงานให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
7.ประชาสัมพันธ์
แก่นความรู้ (Core Competencies)
1.ศึกษาปัญหา รับทราบข้อมูล
2.สร้างสัมพันธ์ผู้ร่วมงาน
4.ประสานสามัคคี
5.ร่วมภาคีพัฒนา
6.นำพาประชาสัมพันธ์
แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
1.แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ
2.นโยบายการดำเนินงานผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น (OTOP)
3.นโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจน
4.หลักมนุษยสัมพันธ์
5.การพัฒนาทีมงาน
6.การบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ
กลยุทธ์ในการทำงาน ศึกษาข้อมูล เพิ่มพูนทักษะ เอาชนะปัญหา ปรึกษาหาเหตุผล ปฏิบัติตนสู่ความสำเร็จ

ความรู้เรื่อง-งานใหม่มือใหม่ทำอย่างไรจะสำเร็จ


เจ้าของความรู้-นายกู้เกียรติ ญาติเสมอ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการพิเศษ
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ-การทำงานที่ไม่มีประสบการณ์/ไม่มีทักษะความรู้พื้นฐานมาก่อน
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ- ปี2549
เมื่อต้นปี พ.ศ. 2549 ผมย้ายการปฏิบัติราชการจากจังหวัดอุดรธานีมาปฏิบัติราชการที่กรมการพัฒนาชุมชน(กทม.)โดยได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักวิชาการพัฒนาชุมชน 7 ว สำนักส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน รับผิดชอบงานนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน คำรับรองการปฏิบัติราชการซึ่งบอกตรงๆว่างานที่กล่าวมาทั้งหมดผมไม่เคยทำหรือมีประสบการณ์มาก่อนเลยแม้แต่น้อยและงานสำคัญที่ผมถือว่าเป็นงานยากและไม่เคยสัมผัสตั้งแต่ทำงานมากว่า 15 ปี นั่นก็คือ งานวางระบบการจัดการความรู้ของกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งในปีดังกล่าว สำนักงาน กพร. กำหนดเป็นตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการประจำปี และกำหนดเป็นตัวชี้วัดบังคับ ในมิติที่ 4 การพัฒนาองค์กร โดยมีตัวชี้วัดย่อยอีก 3 ตัวพ่วงท้ายมาอีกด้วย ลำพังตัวชี้วัดเดียว ผมมือใหม่เอามากๆๆก็หืดขึ้นคอแล้ว และที่สำคัญปีนั้นเป็นปีแรกที่กรมการพัฒนาชุมชนดำเนินงานจัดการความรู้(KNOWLEDGE MANAGEMENT: KM) อย่างเป็นระบบ สถานการณ์ขณะนั้นบีบหัวใจผมเอาการอยู่ เนื่องจากได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานใหม่ของกรมฯ งานใหม่ของสำนักฯและที่น่าตกใจ คือเป็นงานใหม่เอี่ยมสำหรับผม ซึ่งไม่มีความรู้พื้นฐานมาก่อนแม้แต่น้อย หากมีข้อผิดพลาดหรือตัวชี้วัดระบบการจัดการความรู้ที่ว่านี้ไม่สำเร็จหรือไม่เป็นไปตามเป้าหมายของผู้บังคับบัญชา ที่ตั้งไว้ อะไรจะเกิดขึ้น เป็นโจทย์ที่ยากสุดๆ สำหรับผม ณ ขณะนั้น และนี่เป็นจุดตั้งต้นที่ผมตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะฟันฝ่าอุปสรรคและปัญหาเหล่านี้ให้ได้แม้จะใช้เวลาหรือความพยายามมากน้อยแค่ไหนก็ตามที
เมื่อรับงานการวางระบบการจัดการความรู้มาอย่างเต็มตัวแล้ว ประเด็นแรกของผมในการศึกษางานที่ว่านี้ คือ สืบค้นแฟ้มงานที่คนอยู่ก่อนหน้าทำเอาไว้ ผมอ่านเอกสารในแฟ้มตั้งแต่โครงการ รายละเอียดงบประมาณ ขั้นตอนการดำเนินงาน และเป้าหมายทั้งเชิงผลผลิตและเชิงคุณภาพ ตัวชี้วัดกิจกรรม อ่านแม้กระทั้งบันทึกเสนอต่างๆที่แสดงความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนงาน สิ่งที่ผมได้เรียนรู้คือขั้นตอนการทำงานของโครงการที่ผู้ยกร่างโครงการทำใว้ก่อนผมย้ายมา แต่ก็ไม่แน่ใจนักว่าเมื่อทำตามขั้นตอนของโครงการแล้วระบบการจัดการความรู้ของกรมการพัฒนาชุมชนจะสำเร็จแต่อย่างน้อยก็เป็นแนวทางที่ผ่านการคิดและไตร่ตรองมาพอสมควรแล้ว การศึกษารายละเอียดโครงการจากแฟ้มที่คนเก่าทำไว้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะเห็นภาพรวมของโครงการทั้งหมด แต่หากผู้รับผิดชอบ ไม่เข้าใจงานอย่างลึกซึ้งก็จะเป็นปัญหาไม่รู้จบเช่นเดียวกัน ผมตระหนักปัญหานี้ดีจึงแสวงหาตำหรับ ตำราเรื่องการจัดการความรู้มาอ่านและศึกษาอย่างจริงๆจังๆ ผมหมดเงินไปนับพันบาทในการไปหาซื้อหนังสือประเภท HOW TO ด้านKM มาอ่าน การทำอย่างนี้ทำให้ผมมีความรู้ด้านการจัดการความรู้ที่กว้างขวางขึ้นจากตำราดังกล่าวแต่ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกคือ มีทฤษฎีมากมายแล้วปฏิบัติอย่างไร KM จึงจะเกิดเป็นรูปธรรมในกรมการพัฒนาชุมชน ผมนำความรู้ในแฟ้มงานที่กล่าวมาข้างต้นเชื่อมโยงกับตำราที่ซื้อมาอ่าน (แม้บางเล่มจะเขียนคนละทิศละทางก็ตามที) ทำให้เริ่มเดินงานอย่างคนมีข้อมูลแล้ว เกิดความมั่นใจมากขึ้น ในห้วงเวลานั้นคำถามที่ผมพบบ่อยคือ KM ที่เป็นรูปธรรมเป็นอย่างไร และทำอย่างไรให้สำเร็จ คนในองค์กรเก่งขึ้น งานมีคุณภาพ(เป้าหมาย KM) จังหวะเดียวกันนั้นผู้บังคับบัญชาตัดสินใจจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อมาวางระบบการจัดการความรู้โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นกลยุทธ์การพัฒนางานอย่างหนึ่งในกรณีขาดผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง การเอ้าท์ซอส องค์ความรู้จากภายนอกสามารถแก้ปัญหาและเอื้อให้บุคลากรเกิดการเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆที่บริษัท ผู้เชี่ยวชาญมาพัฒนาต่อยอดให้ ผมยิ่งมั่นใจมากขึ้นเมื่อมีระบบพี่เลี้ยงมาเกื้อหนุน บริษัทที่ปรึกษาดำเนินการสร้างการเรียนรู้โดยทำเวริ์คช็อป ให้เราลองปฏิบัติทุกขั้นตอนผมเริ่มเข้าใจ KM มากขึ้นการได้ฝึกปฏิบัติก่อนแล้ววิทยากรพี่เลี้ยงจึงสรุปหลักการภายหลังเป็นวิธีการที่ทำให้เราเข้าใจกระบวนการและวิธีการมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตลอดการฝึกปฏิบัตินั้นไม่มีการนั่งฟังบรรยายเป็นเวลานานเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทำให้ได้ข้อสรุปว่า การเรียนรู้เรื่อง KM จะเกิดผลดีต้องทำไปเรียนรู้ไปเท่านั้น การจัดกิจกรรมของบริษัทที่ปรึกษาจากการสังเกต พบว่ามีตั้งแต่การ สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายด้วยเกมส์/กิจกรรม การวางตัวของวิทยากร และการใช้สื่อที่สามารถเชื่อมโยงให้เห็นในการปฏิบัติจริงได้ ที่สำคัญการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้ผมเรียนรู้และเข้าใจมากขึ้นว่าการจัดการความรู้ คืออะไร ความรู้ที่เราจะจัดการหมายถึงอะไร มีขั้นตอนอย่างไร และนี่เป็นการเรียนรู้เนื้องานที่รับผิดชอบได้ดียิ่งขึ้น หลังการฝึกอบรม กรมฯและบริษัทที่ปรึกษามอบภารกิจให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกลับไปจัดเก็บความรู้ โดยใช้ทักษะที่ฝึกปฏิบัติจากการอบรมดังกล่าว เป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ไปสู่การปฏิบัติจริง ในการรับผิดชอบงานจัดการความรู้นอกจากผมใช้การศึกษากระบวนงานจากแฟ้มเอกสาร สอบถามเรียนรู้กับผู้รับผิดชอบงานเดิม การศึกษาเพิ่มเติมหลักการต่างๆจากตำราหรือเอกสารแนวทาง การหาพี่เลี้ยงที่ชำนาญหรือเชี่ยวชาญและการต้องลงมือฝึกปฏิบัติจริง จึงเป็นเครื่องมือและวิธีการที่ทำให้ผมทำงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้อย่างเข้าใจมากขึ้น ในขณะเดียวกันการจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญมาเป็นที่ปรึกษาครั้งนี้ผมได้เรียนรู้ทุกขั้นตอนของการก้าวเดินของที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิดด้วยการสังเกต บันทึก ติดตามตลอดทุกกิจกรรม ผมบันทึก รวบรวม ไว้ทั้งหมด ตั้งแต่ กิจกรรม เครื่องมือ เทคนิคการนำเสนอ สื่อต่างๆ และเคล็ดลับการสร้างการเรียนรู้ รวมทั้งติดตามผู้เชี่ยวชาญไปฝึกปฎิบัติทุกขั้นตอนทุกครั้งที่ไปดำเนินการ การจดบันทึกเป็นเครื่องมือแกะรอยการทำงานของผู้เชี่ยวชาญได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผมนำประสบการณ์ที่ได้จากกระบวนการพัฒนาตนเองตามที่เล่ามาทั้งหมด มาเป็นกรอบและกระบวนการในการดำเนินงาน KM ของกรมการพัฒนาชุมชน นับจากวันนั้นเป็นต้นมา
เมื่อถึงปลายปีงบประมาณ ผลการประเมินการจัดการความรู้ของกรมการพัฒนาชุมชน ผ่านการประเมิน ได้ 5 คะแนนเต็ม พร้อมมีหลักฐานเชิงประจักษ์ครบถ้วน เกิดกระแสการพูดคุยเรื่อง KM กันมากขึ้น ผมรู้สึกดีใจที่การลงทุนทั้งเวลา งบประมาณ ที่สนับสนุนให้กรมฯมีระบบการจัดการความรู้เกิดผลสำเร็จในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นปีแรกที่กรมการพัฒนาชุมชนวางระบบ KM อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากผลงานผ่านการประเมินของ สำนักงาน กพร. แล้ว ผมภูมิใจที่การพัฒนาตนเองของผมให้เรียนรู้งานใหม่ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนเกิดความรู้และทักษะด้านการจัดการความรู้มากกว่าเดิม เข้าใจ และสามารถปฏิบัติได้ และที่สำคัญสามารถถ่ายทอดทั้งกระบวนการ เทคนิควิธี ของการจัดการความรู้ ได้เป็นอย่างดี จนปัจจุบัน ผมมีโอกาสได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร KM ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนและชุมชน รวมทั้งมหาวิทยาลัย ที่ผมก้าวเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย จากความสำเร็จนี้ทำให้ผมทีทัศนคติที่ดีกับงานใหม่ๆที่ไม่เคยทำและท้าทาย เสมือนเครื่องมือที่ทำให้ผมต้องกล้าที่จะเรียนรู้และพัฒนาทั้งทักษะความรู้จนเกิดเป็นความชำนาญและสามารถแก้ปัญหาในงานได้ในที่สุด
ขุมความรู้
1. สืบค้นรายละเอียดงานจากแฟ้มงาน(ความเป็นมา/เรื่องเดิม/แนวทาง)และศึกษาให้ชัดเจน
2. สืบค้นข้อมูล/พูดคุยกับผู้ที่รับผิดชอบเดิม(ที่มีประสบการณ์มาก่อน)
3. จดบันทึกกระบวนการ/ขั้นตอน/วิธีการจากผู้รู้หรือผู้รับผิดชอบเดิม
4. ศึกษาเอกสารตำราเพิ่มเติมเพื่อความลึกซึ้งและมองภาพรวมจากความรู้ที่เป็นสากล
5. ฝึกปฏิบัติ ทำไปเรียนรู้ไปแก้ปัญหาไป บันทึกข้อผิดพลาด/วิธีการแก้ปัญหาได้สำเร็จ
6. เชื่อมโยงหลักการตามตำรากับสถานการณ์และผู้เชี่ยวชาญ
7. สร้างและใช้ระบบพี่เลี้ยงหรือเอ้าท์ซอส ความรู้จากภายนอก
แก่นความรู้
1. ไฝ่เรียนรู้(ด้วยตนเอง)
2. ฝึกปฏิบัติ(ทักษะ)จริงจัง
3. ตำราวิชาการหนุนเสริมความเข้าใจ
4. สร้างระบบพี่เลี้ยงหรือมีทีมที่ปรึกษา
แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
แนวคิดด้านการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง การสร้างความรู้ และการพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ
กลยุทธ์
“ใฝ่รู้ ลองทำ นำหลักการ ประสานคนเก่ง เร่งสร้างระบบพี่เลี้ยง “

ความรู้เรื่อง เทคนิคการปฏิบัติตนให้ชาวบ้านยอมรับและศรัทธา


เจ้าของความรู้ นายณรงค์ รมยะสมิต ผู้นำชุมชนต้นแบบ ต.บางเพรียง
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ ผู้นำชุมชนใหม่ชาวบ้านไม่เชื่อมั่นและขาดศรัทธา
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ ปี 2527
นายณรงค์ รมยะสมิต อายุ 63 ปี เป็นคนชุมชนบางเพรียง อำเภอบางบ่อ
จังหวัดสมุทรปราการ ลุงเป็นนักต่อสู้อย่างเเท้จริง ด้วยบุคลิกที่ฉับไว การพูดคมคาย จับประเด็นในการสนทนาเเม่นเหมือนจับวาง ผมจึงถือโอกาสแอบถอดบทเรียนลุงณรงค์ขณะมีเวลาว่างจากการเข้าร่วมกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการกองทุน กข.คจ.(โครงการเเก้ไขปัญหาความยากจน) ซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการจัดขึ้น ที่ห้องประชุม อบจ.เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2553 ความรู้หรือประสบการณ์ที่ลุงณรงค์ต้องการถ่ายทอดและเล่าสู่กันฟังในบทบาทของนักพัฒนาภาคประชาชน คือ เทคนิคการปฏิบัติตนให้ชาวบ้านยอมรับและศรัทธา ลุงเล่าว่าเดิมที่เข้ามารับตำแหน่งผู้นำชุมชน ชาวบ้านยังไม่ให้ความร่วมมือมากนัก การมีส่วนร่วมน้อยมาก ลุงต้องลงมือเองทุกครั้งในการทำงานให้ชุมชน การเดินไปชักชวนให้มาประชุมหรือมาทำงานเพื่อส่วนรวมมักไม่ได้รับความสนใจ จนหลายครั้งลุงเกิดความท้อถอยและอยากลาออกจากตำแหน่งเพื่อตัดปัญหา แต่ด้วยบรรพบุรุษรุ่นก่อนของลุงเป็นผู้นำชุมชนมาหลายรุ่น การถอดใจแบบนี้ไม่ดีแน่ ดังนั้นลุงจึงฮึดสู้เพื่อแก้ปัญหานี้อีกครั้ง
การสร้างศรัทธาในตัวชาวบ้านและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชุมชน จึงเป็นโจทย์ที่ลุงเพรียงวิเคราะห์แล้วว่าเป็นสาเหตุหลักหรือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ได้ใจชาวบ้านและหันมาร่วมมือพัฒนาท้องถิ่นด้วยความเต็มอกเต็มใจในที่สุด ลุงเป็นคนพื้นเพที่บางเพรียงแห่งนี้ เป็นลูกเกษตรกรเต็มขั้น พื้นที่ทำกินเดิมเป็นทุ่งนากว้างใหญ่ มีเป็นพื้นที่ป่าอยู่บ้างก็คือป่าเเสม และต้นจาก กว่าครึ่งชีวิตลุงทำนามาตลอดจนปี พ.ศ. 2510 จึงหันมาเลี้ยงปลาสลิดเฉกเช่นเกษตรกรคนอื่นๆในระแวกเดียวกัน ลุงเล่าว่าต้องต่อสู้กับภาวะวิกฤตหลายต่อหลายครั้ง ต้นทุนการเลี้ยงปลาสูงขึ้น ประกอบกับมีผู้ผลิตมากหลายราย จึงหันมาเลี้ยงปลาเบญจพันธ์แทน (ผมไม่แน่ใจว่า เบญจพันธ์ สะกดแบบนี้หรือไม่ แต่ลุงบอกว่ามันหมายถึงการเลี้ยงปลาหลายๆชนิดในที่เดียวกัน เช่น ปลาตะเพียน ปลายี่สก ปลาจีน ปลาหัวโต เป็นต้น) ชีวิตเริ่มดีขึ้นและได้รับการยอมรับจากชุมชนที่เป็นผลจากการประกอบอาชีพเป็นตัวอย่างที่ประสบผลสำเร็จให้ชาวบ้านเห็น กว่าจะทำให้ชาวบ้านเชื่อมั่นลุงใช้เวลาในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยมีเทคนิคการได้ใจชาวบ้านดังนี้

วิธีการ(เทคนิคการปฏิบัติตน)
1. ต้องมุ่งมั่นประกอบอาชีพให้ประสบผลสำเร็จเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านได้เห็นก่อน
2. การที่ชาวบ้านเขาเห็นสิ่งใดที่ไม่ถูกไม่ควร สิ่งใดเสียหาย เอามาบอกมากล่าว เพื่อที่จะได้รีบไปแก้ไขปรับปรุง อย่าทำเป็นหูทวนลม อย่าบอกว่าธุระไม่ใช่ ตรงข้าม ถ้าชาวบ้านเขาบอกเขาแจ้ง เขาแนะนำอะไรไปแล้ว ต้องเร่งรีบแก้ไข ดำเนินการโดยพลัน ชาวบ้านเขาก็ประทับใจ
3. ทำงานช่วยชาวบ้านหรือสนับสนุนการประกอบอาชีพของเขาอย่างสม่ำเสมอ
4. รับอาสาเมื่อชาวบ้านมีความจำเป็นและร้องขอความช่วยเหลือ
5. ต้องไม่นิ่งดูดาย ในชุมชนมีกิจกรรมใดๆไม่ว่าจะมาจากหน่วยงานไหนมีงบประมาณหรือไม่มี ลุงจะออกหน้าอาสารับผิดชอบเสมอ
6. ต้องเป็นที่ปรึกษาให้ชาวบ้านได้ทุกๆเรื่อง รวมทั้งร่วมกับเขาแก้ไขอย่างจริงใจ
7. การปฏิบัติตนก็สำคัญ คุณธรรม จริยธรรม โปร่งใส และเสียสละเสมอ
8. หมั่นเยี่ยมเยียน พบปะ สอบถาม แสดงความเห็นอกเห็นใจชาวบ้านจากใจจริง
9. ป้องกันและรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมโดยเฉพาะของชุมชนเป็นที่ตั้ง
10. อยู่กับชาวบ้าน สร้างความคุ้นเคย สร้างความรู้สึกเหมือนเป็นคนในครอบครัว
11. ฟังให้มาก ทำให้มาก พูดให้น้อยลง
12. ให้เกียรติ ให้ความสำคัญ ให้ความมั่นใจกับชาวบ้าน อย่าดูถูกดูหมิ่นชาวบ้าน แม้ด้วยกริยาและท่าทาง
จากเทคนิคการทำงานและการปฏิบัติตนของลุงณรงค์ จนกระทั่งชาวบ้านที่บ้านเพรียงมีความศรัทธา ชื่นชม และให้โอกาสลุงรับตำแหน่งผู้นำชุมชนอยู่หลายตำแหน่งทั้งจากอดีต จนปัจจุบัน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ประธานกองทุนต่างๆในชุมชน และล่าสุดเป็นประธานสภา อบต.บางเพรียงอีกด้วย ลุงเป็นผู้นำชุมชนที่มองการณ์ไกล และมีวิสัยทัศน์ โดยเสนอแนวคิดในที่ประชุม คณะกรรมการกองทุน กข.คจ. ว่า การเป็นเครือข่ายขององค์กรชุมชนเป็นสิ่งต้องทำ เพราะหากพี่น้องไม่ช่วยกันเองแล้ว ใครที่ไหนจะมาช่วยเรา นั้นคือ ต้องพึ่งตนเองสร้างการเรียนรู้เป็นเครือข่ายให้เข้มแข็งนั่นเอง ปัจจุบันลุงส่งเสริมชาวบ้านปลูกข่า จำหน่ายสร้างรายได้ให้ชุมชนเป็นกอบเป็นกำ ฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนให้พี่น้องบางเพรียง ยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องก่อเกิดความรัก ศรัทธาและเชื่อมั่นลุงณรงค์จนทุกวันนี้

ขุมความรู้
1. ประสบผลสำเร็จเป็นตัวอย่าง
2. เอาใจใส่เร่งรีบช่วยเหลือ
3. จิตอาสา
4. คุณธรรม จริยธรรม
5. ให้คำปรึกษาใกล้ชิดทุกเรื่อง
6. ปกป้องผลประโยชน์ชุมชน
7. สร้างความคุ้นเคย ฟังมาก ทำมาก พูดน้อย
8. ให้เกียรติ ให้ความสำคัญ
แก่นความรู้
1. เป็นต้นแบบ
2. จิตอาสา(เสียสละ)
3. คุณธรรม
4. ให้คำปรึกษา
5. นำพาผลประโยชน์
กลยุทธ์
“เป็นต้นแบบ จิตอาสา พาคุณธรรม ให้คำปรึกษา นำพาผลประโยชน์ “
แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
· ภาวะผู้นำ
· คุณลักษณะของผู้นำที่มีประสิทธิภาพ
ผู้บันทึกความรู้ นายกู้เกียรติ ญาติเสมอ หัวหน้ากลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน สพจ.สมุทรปราการ
วันที่บันทึก 22 มีนาคม 2553 ห้องประชุม อบจ.สมุทรปราการ

ความรู้เรื่อง เทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพทุนชุมชน(กข.คจ.)เพื่อแก้จน


เจ้าของความรู้ นางญาณี ตานะเศรษฐ์
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางบ่อ
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ การยืมเงินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน ( กข.คจ.)
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2545
สถานที่เกิดเหตุการณ์ อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ

เมื่อปี พ.ศ. 2545 ดิฉันได้ย้ายมาจาก กิ่งอำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อมาปฎิบัติราชการที่ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ในขณะที่ดิฉันย้ายมาปฎิบัติราชการที่อำเภอบางบ่อ พัฒนาการอำเภอ คือคุณวิเชียรโชค เพ็ชรภักดี ได้มอบหมายให้รับผิดชอบตำบลบางเพรียง ตำบลคลองด่าน และตำบลบ้านระกาศ ซึ่งตำบลที่ดิฉันรับผิดชอบนี้ มีโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน ( กข.คจ.) อยู่ 2 ตำบล คือ ตำบลบางเพรียง และตำบลบ้านระกาศ ซึ่งดิฉันได้ทราบจากพัฒนาการอำเภอว่า ตำบลบ้านระกาศ มีปัญหาเรื่องการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) เนื่องจากสมาชิกกลุ่มเป้าหมายยืมเงินแล้วไม่ส่งคืน เฉยเมย และมักจะพูดและเข้าใจว่า เป็นเงินได้เปล่า ส่วนตำบลบางเพรียงไม่มีปัญหาอะไร เมื่อพัฒนาการอำเภอเล่าให้ฟัง และได้มอบหมายให้ดิฉันเข้าไปประสานกับผู้นำคือผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นประธาน และช่วยให้คำแนะนำปรึกษาในเรื่องของโครงการ กข.คจ.เพื่อให้สมาชิกกลุ่มเป้าหมายเข้าใจมากขึ้น ณ ขณะนั้นดิฉันก็คิดเพื่อหาวิธีการเข้าไปแก้ไขปัญหานี้ให้สำเร็จ แต่คงต้องใช้เวลา เนื่องจากปล่อยทิ้งเวลาไว้เนิ่นนาน คงต้องพูดคุยกันนานกว่าจะเข้าใจ และคิดว่าคงต้องเข้าไปสร้างความคุ้นเคยกับสมาชิกกลุ่มเป้าหมายเพื่อสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นก่อนงานอื่นจะตามมาภายหลัง
หลังจากนั้นดิฉัน ก็หาโอกาสเข้าไปเยี่ยมเยียนและพูดคุยกับผู้นำ และสมาชิกกลุ่มเป้าหมายเป็นบางคน (ในขณะที่ดิฉันได้ทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน(กข.คจ.) งานอื่น ๆใน 2 ตำบลที่ได้รับมอบหมายก็ไม่ให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด คงทำงานควบคู่กันไป) การที่ต้องเข้าไปพบปะผู้นำและสมาชิกกลุ่มเป้าหมาย ส่วนใหญ่ต้องเข้าไปวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ ซึ่งจะมีคนอยู่บ้าน และสะดวกต่อการพบปะพูดคุย ดิฉันได้เข้าไปสร้างความเชื่อมั่นด้วยการคลุกคลีทำความเข้าใจและสร้างความคุ้นเคยหลายต่อหลายครั้งด้วยกัน จนกระทั่งเกิดความไว้วางใจและสนิทสนมกัน จึงได้เร่มพูดคุยกันถึงเรื่องการดำเนินงานโครงการ กข.คจ.และได้สอบถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้รู้ความจริงว่า สมาชิกกลุ่มเป้าหมาย มีความเข้าใจในการใช้เงินทุนก้อนนี้โดยเข้าใจว่าเป็นเงินที่ไม่ต้องส่งคืน ใครยืมแล้วก็เป็นของคนนั้นเลย

จากประสบการณ์การทำงานของดิฉัน ซึ่งได้เจอกับเรื่องหลาย ๆประเภทมาแล้ว คิดว่าเรื่องแต่นี้แก้ไขได้ จึงได้เริ่มต้นพูดคุยกับผู้นำ และแนะนำว่า ให้ผู้ใหญ่บ้านช่วยนัดสมาชิกกลุ่มเป้าหมายประชุมให้ด้วย จะเข้ามาพูดคุยด้วยตนเอง ซึ่งจากการได้พูดคุยและพบปะกันหลายครั้งทำให้เกิดความไว้วางใจและเชื่อมั่นในตัวพัฒนากร(ดิฉัน)มากขึ้น จึงไม่ยากเลยที่จะนัดประชุมเพื่อให้มาเจอกันและเปิดอกคุยกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ผู้ใหญ่บ้านจึงได้นัดสมาชิกกลุ่มเป้าหมายและให้ดิฉันเข้าไปประชุมชี้แจงรายละเอียดให้สมาชิกกลุ่มทราบอย่างต่อเนื่อง
หลังจาก ที่ผู้ใหญ่บ้านรับปากจะนัดประชุมสมาชิกกลุ่มเป้าหมายให้ ดิฉันก็ได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) เพื่อจะได้เข้าไปแนะนำและชี้แจงให้สมาชิกกลุ่มเป้าหมายเข้าใจและปฏิบัติได้อย่างถูกระเบียบและถูกต้องเป็นที่ปรึกษาให้ชุมชนได้ เมื่อผู้ใหญ่บ้านแจ้งมาว่าได้นัดประชุมสมาชิกกลุ่ม กข.คจ. และได้เชิญพัฒนากรเข้าไปประชุมชี้แจง ดิฉันจึงได้รวบรวมเอกสาร และความรู้ที่มีอยู่ เข้าไปพูดคุย แนะนำให้คำปรึกษาให้รู้ถึงประโยชน์คุณค่าที่ได้รับ และทำให้พ้นจากความยากจนได้อย่างไร และเมื่อตนเองพ้นจากความยากจนแล้ว ยังสามารถช่วยเหลือผู้ที่อยู่ข้างหลังที่มีความยากจนได้ยืมเงินไปเพื่อประกอบอาชีพได้อีกด้วย ทำให้สมาชิกกลุ่ม จำนวน 28 คน ณ ขณะนั้นเข้าใจและยอมรับที่จะส่งเงินยืมคืนตามกำหนด และได้นัดหมายวันที่จะส่งเงินคืน โดยให้พัฒนากรเข้ามาร่วมเป็นสักขีพยานด้วยในวันที่ส่งคืนเงินยืม และเขียนโครงการยืมเงิน กข.คจ. ต่อเพื่อไปประกอบอาชีพ
ในขณะที่พูดคุยเรื่องโครงการ กข.คจ. นั้น ดิฉันก็ได้พูดเกี่ยวกับเรื่องกลุ่มออมทรัพย์ด้วย โดยให้เหตุผลว่า การที่เรายืมเงินไปลงทุน ถ้าเราไม่มีการออมด้วยแล้วจะมีเงินเพิ่มหรือไม่ และได้พูดยกเหตุผลอื่น ๆอีกหลาย ๆข้อ จนกระทั่งทำให้สมาชิกกลุ่มเป้าหมายมองเห็นความสำคัญของการออมเงินด้วย จึงได้ตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ในกลุ่ม กข.คจ.ด้วย ทำให้ดิฉัน ดีใจมาก ที่ทำให้สมาชิกกลุ่มเป้าหมายเข้าใจในเรื่องของโครงการ แก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งนอกจากได้ยืมเงินแล้ว ยังมีเงินออมอีกด้วย จากปัญหานี้ ดิฉันได้แก้ไขด้วยตนเองสำเร็จในที่สุด
ขุมความรู้
1. ศึกษาข้อมูลรายละเอียดของสมาชิกกลุ่มเป้าหมาย หาปัญหาและสาเหตุ
2. สร้างความมั่นใจ และความไว้วางใจ ความประทับใจให้ชาวบ้าน
3. ศึกษาหาความรู้จากเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงการ กข.คจ.
4. หมั่นเข้าพบผู้นำ และสมาชิกกลุ่มเป้าหมายบ่อย ๆ
5. อย่าทำตัวให้เขาเบื่อหน่าย
6. มีจิตใจโอบอ้อมอารี ให้ความช่วยเหลือผู้อื่น
7.สอดแทรกงานพัฒนาด้านอื่นเข้ากับกิจกรรมที่ปฏิบัติขณะนั้น

แก่นความรู้
1. ให้คำปรึกษา
2. ใฝ่เรียนรู้จากตำราวิชาการต่าง ๆ
3.สร้างความศรัทธาให้ตนเอง
4. มีคุณธรรม
แนวคิดทฤษฏีที่เกี่ยวข้อง
สร้างการเรียนรู้ชุมชน และการพัฒนาตนเองให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน
กลยุทธ์
มีคุณธรรม ไว้วางใจ ให้ความเชื่อถือ สู่ความสำเร็จ
…………………

ความรู้เรื่อง เทคนิคการพัฒนาภาวะผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ในการพัฒนาชุมชน


ชื่อ-นามสกุล นางสาวสุริสา วรอานันท์
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางบ่อ
เบอร์โทรศัพท์ 083-268-8838
เป็นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับ ผู้นำรุ่นใหม่ไม่กล้าแสดงออกหรือไม่มีภาวะการนำ
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ ปี 2552
สถานที่เกิดเหตุการณ์ บ้านคลองบางพลีน้อย หมู่ที่ 6 ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ เดือนมิถุนายน 2552 โดยข้าพเจ้าได้รับคำสั่งให้ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางบ่อ และได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ”พออยู่ พอกิน” ซึ่งเป้าหมายในการดำเนินงาน คือ บ้านคลองบางพลีน้อย หมู่ที่ 6 ตำบลบางพลีน้อย
ข้าพเจ้าได้เริ่มปฏิบัติการโดยการจัดประชุมครัวเรือนเป้าหมาย และในการประชุมครั้งนั้นข้าพเจ้าได้ขอให้ตัวแทนชาวบ้าน ช่วยสรุปผลการดำเนินงานของหมู่บ้านที่ผ่านมา เนื่องจากข้าพเจ้าได้รับข้อมูลจากท่านพัฒนาอำเภอบางบ่อในขณะนั้น(นางจินดา รัตนพันธ์) ว่าหมู่บ้านนี้เคยได้รับงบประมาณสนับสนุนงบประมาณในปี 2550 จำนวน 100,000 บาท ให้ดำเนินการหมู่บ้านพอเพียง ผลปรากฏว่าไม่มีใครกล้าออกมาสรุป แต่กับกลายเป็นว่าต่างคนต่างแย่งกันเล่า ทำให้ข้าพเจ้าทราบว่า หมู่บ้านคลองบางพลีน้อยแห่งนี้มีความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในระดับหนึ่ง ถ้าจะต่อยอดให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ”พออยู่ พอกิน” ก็ไม่น่าจะยาก เนื่องจากสามารถปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ แต่หมู่บ้านนี้มีปัญหาในเรื่องไม่มีผู้นำที่จะนำเสนอผลงานให้กับบุคคลอื่นได้เรียนรู้ ข้าพเจ้าจึงมีแนวความคิดที่จะสร้างผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ขึ้นมา เพื่อที่จะสามารถถ่ายทอดขั้นตอนและผลการดำเนินงาน รวมถึงความรู้ต่าง ๆที่มีอยู่ในหมู่บ้าน โดยมีเป้าหมายจะส่งเสริมให้บ้านคลองบางพลีน้อยเป็นทั้งหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบและต่อยอดเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้วย
เมื่อตัดสินใจจะสร้างผู้นำชุมชนรุ่นใหม่แล้ว ก็มีปัญหาว่า แล้วผู้นำคนนั้นจะเป็นใคร และปัญหานี้ก็มีทางออก เมื่อข้าพเจ้าพบผู้นำคนนี้ จากการที่ข้าพเจ้าได้นำครัวเรือนเป้าหมายเข้ารับการอบรมหลักสูตรการพัฒนากสิกรรมธรรมชาติสู่เศรษฐกิจพอเพียง ที่สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงมหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ วิทยาเขตบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา มีผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมกิจกรรมอยู่ 3-4 คน ที่มีคุณสมบัติเหมือนกับที่ข้าพเจ้าคาดหวัง และที่โดดเด่นมาก คือ น้องใกล้รุ่ง แสงทอง เนื่องจากใกล้รุ่ง แสดงให้เห็นว่าสามารถซึมซับแนวคิด หลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมุ่งมั่นที่จะนำแนวคิดนี้ปฏิบัติอย่างจริงจัง



ข้าพเจ้าเริ่มปฏิบัติการโดยประกบน้องใกล้รุ่ง แบบตัวต่อตัว โดยในการดำเนินการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง และขยายผลศูนย์การเรียนรู้ชุมชนจะมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็นระยะ ๆ เมื่อดำเนินการจัดเวทีในแต่ละครั้งข้าพเจ้าพูดคุย แลกเปลี่ยนกับใกล้รุ่ง เสมอว่าในเวทีแต่ละครั้งใกล้รุ่ง ได้เรียนรู้เรื่องอะไร และตรงกับวัตถุประสงค์ในการจัดหรือไม่ มีอะไรที่ยังอยากเรียนรู้เพิ่มเติม จะได้นำมาพูดคุยกันในเวทีครั้งต่อไป และบอกให้ใกล้รุ่งกลับไปเขียนบันทึกไว้กันลืม ซึ่งในการจัดเวทีแต่ละครั้งข้าพเจ้าจะกระตุ้นให้ตัวแทนครัวเรือนได้ออกมาสรุปผลเวทีครั้งที่ผ่านมาให้กับเพื่อนฟังประมาณ 3-4 คน เสมอ แรก ๆก็มีการเกี่ยงกันเล็กน้อย เลยต้องชี้ให้ออกมาพูดน้องใกล้รุ่งก็เป็นเป้าหมายที่ข้าพเจ้าให้ออกมาพูด เมื่อข้าพเจ้าเห็นว่าน้องใกล้รุ่ง รวมทั้งผู้นำชุมชนคนอื่น ๆ มีปัญหาในการพูด ข้าพเจ้าได้ประชาสัมพันธ์ระบบมาตรฐานงานชุมชน(มชช.) ซึ่งเป็นระบบที่ต้องการพัฒนาคุณภาพของคนให้เป็นที่ยอมรับ และชี้ให้เค้าเห็นถึงประโยชน์ว่าเมื่อสมัคร มชช.แล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ปรากฏว่าน้องใกล้รุ่งและผู้นำอีก 5 คน รวมเป็น 6 คน สมัครเข้าสู่ระบบ มชช. ประเภทผู้นำชุมชน ซึ่งข้าพเจ้าในฐานะพัฒนากรผู้รับผิดชอบงาน มชช.ก็จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการพูดต่อหน้าชุมชน และเมื่อสรุปในแต่ละเวทีก็จะให้ผู้นำทั้ง 6 คน ในเป็นคนออกมาสรุป เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ เป็นการพัฒนาตนเองอีกทางหนึ่ง ซึ่งในแต่ละเวทีน้องใกล้รุ่งทำได้โดดเด่นและเริ่มเป็นที่ยอมรับ เนื่องจากนำประสบการณ์จริงที่ได้จากโครงการฯ มาถ่ายทอดและเวทีที่พูดคุยก็เป็นคนในหมู่บ้านเอง
เมื่อบ้านคลองบางพลีน้อยได้เป็นตัวแทนของอำเภอบางบ่อเข้าร่วมการประกวดกิจกรรมหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง”อยู่เย็น เป็นสุข” ประจำปี 2553 ข้าพเจ้าได้ประชุมเพื่อวางแผนและแบ่งงานกันทำ ปรากฏว่าน้องใกล้รุ่ง ได้รับการเสนอชื่อให้สรุปผลการดำเนินงานของหมู่บ้านอย่างเป็นเอกฉันท์ ได้ออกมาพูดกับข้าพเจ้าว่าเครียดกลัวทำไม่ได้ ข้าพเจ้าพูดให้กำลังใจไปว่า น้องต้องทำได้แน่นอน เพราะในเวทีแต่ละครั้งที่มีการสรุป น้องสามารถสรุปได้ชัดเจน เป็นรูปธรรม และเป็นธรรมชาติ น้องใกล้รุ่ง บอกว่าที่ทำได้เพราะพูดกับคนในหมู่บ้าน แต่ไม่เคยพูดในเวทีอื่น ๆ เลย ข้าพเจ้าบอกให้กำลังใจ และแนะนำให้น้องทบทวนถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้ปฏิบัติจริงจากโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ รวมถึงการขยายผลศูนย์เรียนรู้ชุมชน และแบ่งประเด็นที่จะนำเสนอเป็นประเด็นหลัก ๆ ไม่ต้องอ่านตามเอกสารทั้งหมด แต่ให้พูดจากความคิด ความรู้สึก ที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติจริง จนเกิดเกิดประโยชน์ต่อตนเองและคนในหมู่บ้านรวมถึงความต้องการจะถ่ายทอดให้กับคนอื่นได้รู้ ได้แลกเปลี่ยนกัน และก่อนการประกวดให้น้องใกล้รุ่ง มาลองนำเสนอให้ฟังก่อนการประกวด
เมื่อถึงวันประกวดก่อนที่คณะกรรมการจะเดินทางมาถึง ข้าพเจ้าได้ทบทวนให้กับครัวเรือนเป้าหมายถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่หมู่บ้านคลองบางพลีน้อยได้ดำเนินการมาจากหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ”พออยู่ พอกิน” สู่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจพอเพียง มีจุดเรียนรู้ 3 ฐาน ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น มีจุดเรียนรู้อยู่ 9 จุด จนมาถึงการเข้าสู่การประกวด เมื่อข้าพเจ้า

ทบทวนเสร็จ น้องใกล้รุ่งเดินมาพูดกับข้าพเจ้าว่า “พี่หนูพูดประมาณพี่ได้ไหม” ข้าพเจ้าตอบว่าได้ซิ น้องใกล้รุ่ง ทำได้ดีอยู่แล้วล่ะ หายใจลึก ๆ ทำจิตใจให้สบาย ไม่ต้องเกร็ง ทบทวนประเด็นสำคัญ ๆ ถ่ายทอดเรื่องจริงที่ได้ปฏิบัติมา เล่าให้เค้าฟัง อยากเล่าอะไรเล่าไปเลย ไม่ต้องเครียด
เมื่อถึงเวลานำเสนอข้าพเจ้าให้น้องใกล้รุ่งนำเสนอเป็นคนสุดท้าย เนื่องจากจะได้คุ้นเคยกับคณะกรรมการ เห็นลีลาท่าทางของคนอื่น และมีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจมากขึ้น ผลปรากฏว่าเมื่อนำเสนอผลงานจบน้องทำได้ดี จนท่านพัฒนาการจังหวัดสมุทรปราการพูดเย้าว่า “เดี๋ยวกลับไปต้องตัดเงินเดือนลูกน้องโทษฐานโกหกผู้บังคับบัญชาว่าน้องพึ่งนำเสนอเป็นครั้งแรก”
ขุมความรู้
1. สืบค้นผู้นำรุ่นใหม่ที่มีหน่วยก้านและใฝ่รู้
2. สร้างความคุ้นเคย/ติดตามส่งเสริมสนับสนุนและเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้
3. กระตุ้นให้มีบทบาทและภาวะผู้นำ
4. เสริมให้เข้าสู่ระบบ มชช.
5. ให้กำลังใจและผลักดันให้กล้าแสดงออก
6. ให้โอกาสในการแสดงบทบาทผู้นำที่เด่นชัด
แก่นความรู้
1. สร้างความสนิทสนมคุ้นเคย
2. กระตุ้นให้กำลังใจ
3. เอื้ออำนวยด้วยบทบาทพี่เลี้ยง
4. ให้โอกาส
กลยุทธ์ ให้โอกาส สร้างแรงบันดาลใจ ใฝ่ส่งเสริม เติมพลังความเชี่ยวชาญ

ความรู้เรื่อง เทคนิคการแก้ปัญหาการบันทึกข้อมูล จปฐ. ของผู้บันทึกข้อมูล


เจ้าของความรู้ นางเจริญขวัญ นัยเนตร

ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการแก้ปัญหาเกี่ยวกับ การบันทึกข้อมูล จปฐ.ของผู้บันทึกไม่สามารถดำเนินการได้ ในหลาย ๆ ประเด็นปัญหา เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ ปี 2548 – 2553
สถานที่เกิดเหตุการณ์ อำเภอต่างๆในเขตพื้นที่จัดเก็บข้อมูล จปฐ.
ข้าพเจ้าได้ย้ายมาปฏิบัติงาน ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2547 และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบงานด้านการบริหารการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ของจังหวัด ซึ่งเดิมทีข้าพเจ้าไม่เคยได้รับผิดชอบงานในลักษณะนี้มาก่อน เป็นเพียงการดำเนินการในการจัดเก็บและบันทึกข้อมูลของอำเภอในขณะที่ยังปฏิบัติงานเป็นพัฒนากรที่จังหวัดกาญจนบุรี (ปี พ.ศ.2538 – 2547) ดังนั้นในการปฏิบัติงานดังกล่าวข้าพเจ้าได้เริ่มดำเนินการศึกษาระบบงานเบื้องต้น ซึ่งพบว่าที่ผ่านมายังไม่มีการจัดการระบบงานเรื่องข้อมูล จปฐ.อย่างเป็นระบบมาก่อน เช่น แฟ้มงานต่าง ๆ ยังไม่ครบสมบูรณ์มีเพียงหนังสือแนวทางจากกรมฯ เท่านั้นที่เป็นเครื่องมือให้ข้าพเจ้าได้ศึกษาต่อยอด ปัญหาเหล่านี้จะสำเร็จได้ต้องเริ่มจัดระบบงานให้ชัดเจนก่อน
เริ่มจาการกศึกษาหนังสือสั่งการต่าง ๆ ของกรมฯ พยายามดำเนินงานให้เป็นไปตามแนวทางของกรมฯ เป็นหลัก พร้อม ๆ กับการสอบถามพี่ที่ปฏิบัติงานมาก่อนเพื่อเป็นกรอบแนวทางในการทำงาน หลังจากดำเนินการตามแนวทางที่กรมฯ กำหนดแล้ว ข้าพเจ้าก็เริ่มติดตามงานกับอำเภอและสิ่งที่อำเภอสะท้อนกลับมาคือบทบาทนักวิชาการจังหวัดไม่สนับสนุนอำเภอเท่าที่ควร ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงกำหนดวิธีการทำงานของตนเองโดยมุ่งเน้นการลงพื้นที่อำนวยความสะดวกให้พัฒนากรและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบการบันทึกข้อมูล จนถึงระดับผู้จัดเก็บในหมู่บ้าน โดยเฉพาะเน้นการสอบถามพูดคุยกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อทราบปัญหาและกำหนดวิธีการให้งานออกมาเป็นผลสำเร็จ จากการลงพื้นที่ข้าพเจ้าจึงทราบว่า “จปฐ.เปรียบเสมือนยาขมหม้อใหญ่ของคน พช.” โดยเฉพาะในเขตเมืองอย่างจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเมื่อลงพื้นที่เราจะได้พบกับปัญหามากมาย ทั้งในเรื่องของการจัดเก็บ และการบันทึกข้อมูล เช่นชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ การจัดเก็บต้องทำเวลากลางคืนหรือต้องหาเวลาที่คนอยู่บ้านเพราะส่วนใหญ่จะทำงานโรงงาน ทำงานเป็นกะ หรือถ้าเป็นหมู่บ้านจัดสรรบางหมู่บ้านก็จะไม่เปิดให้ผู้จัดเก็บเข้าไปเก็บข้อมูล และอื่น ๆ อีกมากมายซึ่งถ้าพูดในที่นี้คงจะเป็นเรื่องยาว จึงจะขอพูดถึงเรื่องปัญหาในการบันทึกข้อมูล จปฐ.ก่อน ในการบันทึกข้อมูลนั้นก็เกิดปัญหาขึ้นมากมาย ข้าพเจ้าจึงเปิดโอกาส หรือสร้างช่องทางให้ผู้บันทึกข้อมูล จปฐ.สะท้อนปัญหาได้โดยตรงทางโทรศัพท์ และระบบ IT ข้าพเจ้าจะรับฟังทุกปัญหาและทุกคำถามถ้าตอบได้
ข้าพเจ้าจะตอบทันทีและถ้าตอบไม่ได้ข้าพเจ้าจะต้องกลับมาศึกษาค้นคว้า หรือสอบถามผู้รู้ให้ได้คำตอบให้จงได้ ซึ่งในที่สุดปัญหาเหล่านั้นเองที่ทำให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้การใช้โปรแกรมการบันทึกข้อมูล จปฐ.จนเกิดความชำนาญ และปัญหาที่เกิดส่วนใหญ่พอสรุปได้ ดังนี้ 1. โปรแกรมที่ใช้ในแต่ละปีปรับเปลี่ยนบ่อยทำให้เจ้าหน้าที่ไม่คุ้นเคย 2. คอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับบันทึกบางรุ่นไม่รองรับโปรแกรมบันทึกข้อมูล จปฐ. 3. บันทึกข้อมูลแล้วข้อมูลหายซึ่งอาจเกิดจากความผิดพลาดในขั้นตอนการบันทึก 4. ข้อมูลจากการจัดเก็บตามแบบที่ได้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ทำให้มีปัญหาในการบันทึกข้อมูล 5. เจ้าหน้าที่บันทึกขาดความรู้ความชำนาญและทักษะในการบันทึก จากปัญหาดังกล่าวข้าพเจ้ามีเทคนิควิธีการในการแก้ไขปัญหาโดยดำเนินการ ดังนี้ 1. ฝึกหัดเรียนรู้โปรแกรมให้มีทักษะมากขึ้น 2. สร้างเครือข่าย IT ระหว่างจังหวัดเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกัน 3. จัดฝึกอบรมผู้บันทึกข้อมูลของ อบต. เทศบาล และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนที่เกี่ยวข้องแม้ไม่มีงบประมาณก็ประสานขอรับการสนับสนุนสถานที่จากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ภาค 1 และได้ร่วมเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน 4. เชิญวิทยากร ศพช.เขต มาให้การสนับสนุนความรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่ตนเองไม่ถนัดและได้เรียนรู้ในการแก้ปัญหาร่วมกันไปด้วย 5. ลงพื้นที่ให้การสนับสนุนอย่างใกล้ชิดอีก แม้จะได้เรียนรู้จากการฝึกอบรมแล้วก็ตาม 6. ต่อมาจึงจัดโซนพื้นที่ในการให้การศึกษาเรียนรู้แบ่งเป็น 1 จุด ต่อ 2 อำเภอ เพราะการฝึกอบรมหากจำนวนคนมากจะทำให้การเรียนรู้ได้ไม่เต็มที่ โดยใช้สถาบันการศึกษาในพื้นที่ให้การสนับสนุนสถานที่และอุปกรณ์ (ประสานแหล่งความรู้ในพื้นที่เป็นหลัก) 7. จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่อำเภอเพื่อให้ทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้แก่ผู้บันทึกเหล่านี้ 8. มีการติดตามสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและประเมินผลงานนำผลมาพัฒนางานในครั้งต่อ ๆ ไป การดำเนินงานนั้นในระยะแรกต้องติดตามสนับสนุนดูแล อบต.ในทุกพื้นที่ เพราะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ และเน้นให้มีการตรวจสอบข้อมูลในแบบสอบถามให้ครบถ้วนสมบูรณ์ก่อนที่จะบันทึกลงโปรแกรมเพื่อความเที่ยงตรงถูกต้องของข้อมูล การดำเนินการตามที่กล่าวมาทำให้งานบริหารการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. โดยเฉพาะการบันทึกข้อมูลของทุก ๆ อบต. มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของข้อมูลในการแก้ปัญหาชนบทต่อไป ขุมความรู้ 1. ศึกษางานจากผู้รู้ และเอกสารแนวทางหนังสือสั่งการของกรมฯ 2. รับฟังความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายเพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนางาน 3. ออกแบบวิธีการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและบุคลากรที่เป็นกลไกในการบันทึกข้อมูลระดับอำเภอ ตำบล 4. เรียนรู้โปรแกรมและแนวทางการสนับสนุนพื้นที่ให้ชัดเจนสามารถเป็นพี่เลี้ยงอำเภอได้ 5. การพัฒนาบุคลากรให้มีขีดความสามารถในการดำเนินงานบันทึกข้อมูล 6. สรุปวิเคราะห์งานเพื่อปรับปรุงกระบวนงานในปีต่อไป แก่นความรู้ 1. ศึกษา/วิเคราะห์งาน 2. หาปัญหาและกำหนดแนวทางแก้ไข 3. เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและศึกษาความต้องการ 4. เรียนรู้และพัฒนาทักษะกลุ่มเป้าหมายให้สอดคล้องกับผลสัมฤทธิ์ของงาน 5. ทบทวน/ปรับปรุง/สรุปบทเรียน กลยุทธ์ ศึกษา เรียนรู้ สำรวจความต้องการ ประสานความรู้ คู่ระบบ IT มีการบูรณาการสนับสนุน แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง 1. การศึกษาความพึงพอใจของผู้รับบริการ 2. การศึกษา/วิเคราะห์ชุมชน 3. ระบบการบริหารการจัดเก็บข้อมูล จปฐ.

3. รูปแบบหรือโมเดลการจัดการความรู้ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ






ในการขับเคลื่อนโครงการฯสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ ได้กำหนดรูปแบบหรือโมเดลการจัดการความรู้ในการพัฒนาสมรรถนะการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตามกรอบความคิดดังต่อไปนี้




1.การเตรียมการและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
(Transition and Behavior Management)
1. การบ่งชี้ความรู้
(Knowledge Identification)
3. การจัดการความรู้ให้เป็นระบบ
(Knowledge Organization)
4. การประมวลและกลั่นกรองความรู้
(Knowledge Codification and Refinement)
5. การเข้าถึงความรู้
(Knowledge Access)
6. การแบ่งปันและแลกเปลี่ยน
(Knowledge Sharing)
7. การเรียนรู้
(Learning)
6.การยกย่องชมเชยและการให้รางวัล
(Recognition & Reward )
5.การวัดผล
(Measurements)
3.กระบวนการ/เครื่องมือ
(Process & Tools)
2.การสื่อสาร
(Communication)
4.การเรียนรู้
(Training & Learning)



1. สิ่งที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดจะดำเนินการต่อไป
จากกระบวนการขับเคลื่อนที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ จักต้องดำเนินการตามแผนการจัดการความรู้ที่สอดคล้องกันระหว่างแผนการจัดการความรู้ของกรมการพัฒนาชุมชน ปี 2553 (สถาบันการพัฒนาชุมชน) และแผนการจัดการความรู้ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด รวมทั้งแผนการจัดการความรู้ของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง โดยมีแผนงานกิจกรรมที่จะดำเนินการต่อเนื่อง ดังนี้
1) การจัดประชุมคณะทำงานจัดการความรู้และจัดทำมาตรฐานกระบวนงานเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพงานของเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน
2) จัดเวทีชุมชนนักปฏิบัติ (COPs) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามประเด็นยุทธศาสตร์ของกรมการพัฒนาชุมชน
3) ร่วมกับ KM ทีมของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง จัดการความรู้ในชุมชนพื้นที่ชุ่มน้ำ
ที่ตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จ.สมุทรปราการ
4) จัดทำคลิป VDO ในรูปแบบคลังความรู้เพื่อเผยแพร่ทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
5) จัดเวทีมุทิตาจิต ผู้เกษียณอายุราชการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และจัดเก็บความรู้
6) จัดตลาดนัดความรู้ของกลุ่มงาน / ฝ่าย / อำเภอ
7) จัดเวทีสรุปบทเรียนการจัดการความรู้และมอบรางวัลหน่วยจัดการความรู้ดีเด่นของจังหวัด
8) นำผลการสรุปบทเรียนมาพัฒนากระบวนงานของจังหวัดต่อไป
9) เผยแพร่ผลงานทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมมหาดไทย (MAHADTHAI CHANNEL)

2. บทเรียนสำคัญที่ได้จากการดำเนินงานจากการดำเนินงานควบคู่และบูรณาการโครงการริเริ่มสร้างสรรค์และการวางระบบการจัดการความรู้ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ สามารถสรุปบทเรียน

ความรู้เรื่อง เทคนิคการขจัดความประหม่าเมื่อต้องเป็นพิธีกร


เจ้าของความรู้ นายสรสาสน์ สีเพ็ง นักวิชาการฯ ชำนาญการ สพจ.สมุทรปราการ
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่พิธีกร หรือขึ้นกล่าวในโอกาสต่างๆ

การพูด นับเป็นการสื่อสารขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ใช้ทำความเข้าใจกัน คนโดยทั่วไป (ที่ไม่เป็นใบ้) จึงพูดคุยสนทนากันเป็นปกติวิสัยทุกวี่วัน ไม่มีเหตุอะไรที่จะต้องวิตกกังวล หรือตื่นเต้นเมื่อต้องพูดจาปราศรัยกัน
แต่การพูด ก็ทำให้ “งานกร่อย” หรือ “ตกม้าตาย” หรือกระทั่ง “วงแตก” เกิดขึ้นได้ในหลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดต่อหน้าที่ชุมนุมชน หรือเมื่อขึ้นหน้าเวที
สาเหตุก็มาจากความประหม่า คือ การหวาดกลัว หรือไม่ก็เพราะความตื่นเต้น คือ จังหวะเต้นของหัวใจเร็วและรัวจนไม่อาจควบคุมได้ ซึ่งจะนำไปสู่ความสับสน คอแห้ง ปากสั่น มือสั่น กระทั่งขาก็สั่น บางคนบางครั้งสั่นไปทั้งตัว ลืมบทที่เตรียมและซ้อมไว้หมดสิ้น บางทีมีโพยขึ้นไปด้วยก็อุ่นใจ สามารถควบคุมปาก มือ และเท้าไม่ให้สั่น ผู้ฟังก็ไม่มีใครจับได้ แต่เจ้ากระดาษโพยในมือกลับไหวระรัวแทน
อาการที่กล่าวมาทั้งหมด ผู้เขียนเคยผ่านพบมากับตัวเอง ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง จนคิดว่าตัวเราคงไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นพิธีกร หรือผู้ดำเนินรายการ ในงานต่างๆ ทั้งงานที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเสียแล้ว แต่ด้วยภารกิจการงานของนักวิชาการพัฒนาชุมชนที่จำเป็นต้องใช้ “ปาก” เป็นเครื่องมือทำงาน บังคับให้ต้องก้าวผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปให้ได้
ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ใช้การพูดในหลายๆ รูปแบบ เช่น งานพิธีกร ถ้าเป็นแบบบ้านๆ ก็จะเป็นงานบวช งานแต่ง ถ้าเป็นหน่วยราชการก็จะเป็นพิธีกรในการประชุม อบรม สัมมนา งานพิธีการ ตั้งแต่กลุ่มเล็กๆ จนถึงงานระดับชาติที่มีรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงาน ทำหน้าที่สร้างสีสันบรรยากาศให้งานราบรื่นและผู้เข้าร่วมงานมีความสุขเกษมเปรมปรีดิ์ นอกจากนี้ยังมีอีกงานหนึ่งที่ทำต่อเนื่องมาเป็นเวลา ๓ ปี คือ การเป็นโฆษกจัดรายการวิทยุ อย่างน้อย ๓ รายการใน ๓ สถานี เช่น สถานีวิทยุศึกษา (FM 92.5) สถานีวิทยุ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และสถานีวิทยุกรมอุตุนิยมวิทยา (สอต.) มีทั้งจัดสด และจัดแห้ง (คือการไปพูดออกอากาศสดๆ กับการบันทึกเสียงส่งไปออกอากาศ)
พูดถึงการเป็นนักจัดรายการวิทยุ ถ้าจะให้ถูกต้องตามระเบียบว่าด้วยการกระจายเสียง ผู้จัดรายการจะต้องสอบผ่านได้ใบผู้ประกาศจากกรมประชาสัมพันธ์ จึงจะถือว่าเป็นมืออาชีพ สามารถเป็นพิธีกรได้ทั้งรายการวิทยุและโทรทัศน์ (พิธีกรดาราทั้งหลายต้องการกันนักกันหนา) แต่การสอบนี้ ถือเป็นด่านที่นับว่าหินมาก ในการเปิดสอบของกรมประชาสัมพันธ์ครั้งหนึ่งๆ มีองค์กร หน่วยงานต่างๆ จัดส่งบุคลากรเข้าสอบ ๗๐-๘๐ คน แต่มีผู้สอบผ่านไม่เกินสิบ ได้สัก ๖-๗ คนก็นับว่าเก่งแล้ว ผู้เขียนเคยมีโอกาสเดินดุ่ยๆ เข้าไปสอบโดยไม่ผ่านการฝึกอบรมจากองค์กรวิชาชีพใด ไม่ได้ผ่านการติวเข้มหรือเรียนพิเศษเพิ่มเติมจากสถาบันไหน ครั้งนั้นมีผู้เข้าสอบจากทั่วประเทศ จำนวน ๖๓ คน ตั้งแต่นักศึกษาสาขา วิชาวิทยุ จนถึงนักจัดรายการมืออาชีพ เชื่อไหมว่ามีผู้สอบผ่านเพียง ๒ คนเท่านั้นเอง หลังจากครั้งนั้นแล้ว ผู้เขียนยังไม่เคยย่างกรายไปกรมประชาสัมพันธ์เพื่อเข้าสอบใบผู้ประกาศอีกเลย (ไว้มีโอกาสผู้เขียนจะได้เล่าประสบการณ์และถ่ายทอดบทเรียนว่ามีเทคนิคอย่างไรถึงได้เป็น ๑ ใน ๒ คนจากการสอบครั้งนั้น)
วกกลับมาที่เรื่องของอาการประหม่า ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของนักฝึกพูด เกิดจากการที่เรารู้สึกว่า เราได้ตกไปอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ทำให้ไม่มั่นใจ หวาดกังวล ซึ่งเจ้าสิ่งนี้แหละที่จะกลายมาเป็นตัวบ่อนทำลายประเด็นเนื้อหาที่เราเตรียมจะพูดไว้เสียหมดสิ้น สำหรับผู้เขียนนั้นเมื่อได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา หรืออาสาที่จะเป็นพิธีกรไม่ว่าจะเป็นงานใดๆ ประการแรก จะต้องทำความรู้สึกของตนเองให้เกิดความเต็มใจและยินดีที่ได้รับหน้าที่อันมีเกียรตินี้ เพราะความเต็มใจและรู้สึกยินดีจะช่วยปกป้องเราจากความประหม่า พูดง่ายๆ คือ คิดในเชิงบวกว่างานนี้เราเหมาะสมเขาจึงได้มอบหมายให้ ประการที่สอง ศึกษาลำดับขั้นตอนของงานที่เราจะต้องดำเนินกระบวนการ หากเป็นงานพิธีที่เคร่งครัด หรืองานราชพิธี จะต้องดูให้ละเอียดทุกขั้นตอน และดำเนินรายการให้เป็นไปตาม ลำดับขั้นตอนนั้นทุกประการ แต่หากเป็นงานทั่วไปที่มิได้เคร่งครัดนัก ก็มาออกแบบ จัดลำดับขั้นตอนตามความเหมาะสมเพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ทุกๆ ฝ่ายพึงพอใจ
ประการต่อมา หาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ประธานของงาน เจ้าภาพ ผู้กล่าวรายงาน ข้อมูลอื่นๆ เรียกว่า ศึกษาให้รู้ภาพรวมของงาน มองภาพใหญ่ให้เห็น เมื่อเราเป็นพิธีกรก็สามารถหยิบเอาภาพย่อยๆ ในภาพใหญ่มานำเสนอได้ และรู้ว่าควรเสนอข้อมูลใดในบรรยากาศแบบไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ข้อมูลบุคคลสำคัญ จะต้องแม่นยำทั้งชื่อ นามสกุล และตำแหน่งที่ถูกต้อง หากสามารถกล่าวชื่อ-ตำแหน่งได้ถูกต้องโดยไม่ดูโพยจะสร้างความประทับใจได้เป็นอย่างดี ในการหาขอมูลนี้ หากเป็นข้อมูลที่มีมาเพิ่มเรื่อยๆ จำเป็นต้องมีทีม หรือผู้ช่วยคอยจดมาให้ แต่ถ้าเป็นงานที่มีกิจกรรมอื่นประกอบ อาจต้องใช้จังหวะที่มีการแสดงบนเวที ปลีกตัวไปหาข้อมูลด้วยตนเอง ประการสุดท้าย การปิดรายการอย่างมีความหมาย หากเราได้ทำหน้าที่พิธีกรจนจบรายการ (หลายๆ งาน พิธีกรทำหน้าที่เฉพาะช่วงพิธีการ แล้วปล่อยให้เวทีว่ากันเองไปตามบรรยากาศ) ให้คิดว่านั่นเป็นโอกาสที่เราจะได้สร้างความตราตรึงใจแก่ผู้มาร่วมงาน ใช้เวลานี้ในการกล่าวสรุปบรรยากาศดีๆ ที่เกิดขึ้นในงาน กล่าวขอบคุณผู้เกี่ยวข้อง และหาข้อความที่มีความหมายซึ้งๆ มาอำลาพร้อมกับอำนวยพรให้ทุกคนพบกับสิ่งดีๆ หรือจะจบด้วยเพลงสำคัญๆ ก็ได้ ไม่ต้องเยิ่นเย้อแต่เน้นความประทับใจ
จากประสบการณ์การเป็นพิธีกรหลายๆ ครั้ง ผู้เขียนพบว่า ความประหม่าไม่ได้มีสาเหตุจากสภาพแวดล้อมภายนอก หรือบรรยากาศของงานแต่อย่างใด หากแต่เกิดจากความรู้สึกภายในของเราเอง เปรียบเทียบง่ายๆ ในงานหนึ่ง ถ้าเราไปร่วมในฐานะแขกของงานจะรู้สึกสนุกสนานไปกับบรรยากาศ แต่ในงานเดียวกันถ้าเราต้องเป็นพิธีกรความกดดันจะเกิดขึ้นทันที ดังนั้นควรขจัดความประหม่าด้วยการจัดการความรู้สึกของตัวเอง คิดเชิงบวก ว่าเรานี่ช่างโชคดีที่สุดที่ได้มีโอกาสยืนเด่นบนเวทีมากกว่าใครๆ ในงานนั้น.

ขุมความรู้
๑. การพูดเป็นกาสื่อสารขั้นพื้นฐานของมนุษย์
๒. ความประหม่าเกิดจากความรู้สึกภายในของคน ไม่ใช่จากสภาพแวดล้อมภายนอก
๓. การเป็นพิธีกรที่ดี ๑) ต้องยินดีและเต็มใจ ๒) รู้ลำดับขั้นตอน ๓) มีข้อมูล ๔) สรุปจบประทับใจ

แก่นความรู้ การขจัดความหม่าในการเป็นพิธีกร ทำได้โดยการจัดการความรู้สึกของตนเอง คิดเชิงบวก โดยสร้างความรู้สึกยินดีและเต็มใจที่มีโอกาสได้เป็นพิธีกรของงาน

ความรู้เรื่อง เทคนิคการให้บริการรับ-ส่งหนังสือราชการอย่างมีประสิทธิภาพ


เจ้าของความรู้ นางสาวพาฝัน ณ สงขลา
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ การลงรับหนังสือราชการของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ/กลุ่มงาน/ฝ่าย
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ ก.พ.-มิ.ย. 53
หัวหน้าฝ่ายอำนวยการมอบหมายให้ข้าพเจ้ารับผิดชอบงานธุรการในการให้บริการรับ-ส่งหนังสือราชการของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ/กลุ่มงาน/ฝ่าย ต่าง ๆ เพื่อเสนอให้ผู้บังคับบัญชาลงนามในเรื่องต่าง ๆ ในการปฏิบัติงานของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ
เมื่อได้รับมอบหมายสิ่งแรกที่ข้าพเจ้าดำเนินการคือการทบทวนและศึกษากระบวนการทำงานด้านนี้ของผู้รับผิดชอบเดิม พบว่าการลงรับหนังสือราชการใช้วิธีการลงบันทึกในเล่มลงรับหนังสือ แต่ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วการลงรับหนังสือด้วยสมุดเมื่อมีผู้ใดต้องการสืบค้นหนังสือจะยุ่งยากในการเปิดหาหรือสืบค้น โดยเฉพาะหากหนังสือเรื่องนั้นเข้ามานานมากแล้วหรือมีหนังสือเข้าเป็นจำนวนมาก ๆ ดังนั้น จึงคิดว่าหากเราพัฒนามาใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์(โปรแกรม Excel) มาจัดการในลักษณะฐานข้อมูลหนังสือเข้า จะช่วยในการปฏิบัติงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการสืบค้นมากขึ้น
ดังนั้น เมื่อมีหนังสือราชการที่ส่งมาถึงสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการในแต่ละวัน ข้าพเจ้า จึงดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
1. คัดแยกหนังสือแบ่งตามกลุ่มงาน / ฝ่าย
2. ประทับตราลงรับของสำนักงาน / วันที่ / กลุ่มงาน / ฝ่าย
3. จัดพิมพ์หนังสือที่คัดแยกไว้ลงในแบบฟอร์มที่จัดทำไว้ในโปรแกรม
4. ส่งให้หัวหน้าฝ่ายอำนวยการตรวจสอบและพิจารณาความถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง
5. พิมพ์แบบฟอร์มข้อมูลหนังสือลงรับเพื่อให้กลุ่มงาน / ฝ่าย เซ็นรับอย่างเป็นทางการ
6. จัดเก็บแบบฟอร์มที่กลุ่มงาน / ฝ่าย เซ็นรับ โดยแยกแฟ้มเก็บเป็นกลุ่มงาน / ฝ่าย เพื่อใช้เป็นหลักฐาน
การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้ในการแก้ไขปัญหางานจึงเป็นประโยชน์ ทำให้งานบรรลุผลสำเร็จสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะงานด้านธุรการ

ข้อควรคำนึง
1) การใช้โปรแกรมบันทึกข้อมูลหนังสือลงรับ ควรมีเจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่นที่สามารถทำงานแทนเราได้ในกรณีที่เราไม่มาปฏิบัติงานหรือไม่สามารถปฏิบัติงานได้
2) ผู้ปฏิบัติงานควรมีพื้นฐานความรู้ในเรื่องการใช้โปรแกรม

/ขุมความรู้...
ขุมความรู้
1) ศึกษางานการลงรับหนังสือจากผู้รับผิดชอบเดิม
2) วิเคราะห์ปัญหาความยุ่งยากที่เกิดขึ้น
3) ประยุกต์โปรแกรมคอมพิวเตอร์มาแก้ปัญหา
4) ให้ผู้บังคับบัญชาตรวจสอบความถูกต้อง
5) จัดระบบแฟ้มตามกลุ่มงาน / ฝ่าย

แก่นความรู้
1) วิเคราะห์งานที่ผ่านมา
2) หาแนวทางพัฒนางานด้วย IT
3) ให้ผู้บังคับบัญชาตรวจสอบ
4) จัดระบบงาน

กลยุทธ์
วิเคราะห์ปัญหา นำพา IT มีระบบแฟ้มส่วนงาน

แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
การพัฒนากระบวนงานตาม PMQA หมวด 3 และ หมวด 6



---------------------------------------

ความรู้เรื่อง เทคนิคการเขียนสรุปความรู้(LEARNING LOG)


เจ้าของความรู้ นายกู้เกียรติ ญาติเสมอ
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ การบันทึกและสรุปความรู้หลังการฝึกอบรม
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2550
การเขียนสรุปความรู้หลังการเรียนรู้รายวิชา(LEARNING LOG) เป็นวิธีการบันทึกการเรียนรู้สิ่งต่างๆที่ผู้เข้าอบรมหรือผู้เข้าร่วมการเเลกเปลี่ยนเรียนรู้ใช้สรุปขุมความรู้ (Knowledge Asset) ที่ได้เรียนรู้ในวิชาหรือประเด็นที่พูดคุยกันในเวที ว่าเราได้ประเด็นความรู้อะไรบ้าง ท่านมีแนวคิดต่อความรู้นั้นอย่างไร รวมทั้งสามารถนำไปสู่การพัฒนางาน พัฒนาตน พัฒนาทีมได้อย่างไร ประโยชน์อีกประการหนึ่งคือ เป็นการทบทวนความรู้ที่ได้เเละเป็นเครื่องมือประเมินตนเองได้เป็นอย่างดี
สำหรับเทคนิคการเขียนนั้นมีด้วยกันหลากหลายวิธี ผมเองเคยมีประสบการณ์อยู่บ้างเนื่องจากเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆแล้วจำเป็นต้องสรุปแก่นความรู้นำเสนออาจารย์ผู้สอนหรือผู้บังคับบัญชา ดังนั้นจึงขอสกัดความรู้จากประสบการณ์ในการใช้เทคนิคการเขียนความรู้หลังการเรียนรู้รายวิชา(LEARNING LOG) ในมุมมองหรือประสบการณ์ของตัวเองเพื่อเเลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแวดวงคนทำงานเเบบเดียวกันครับ
วิธีการปฎิบัติ - ในการเขียนสรุปความรู้หลังการเรียนรู้รายวิชา(LEARNING LOG) ให้มีประสิทธิภาพนั้นสิ่งต้องเตรียมการเป็นลำดับเเรก คือ
การเตรียม
1.การเตรียมตัวเองให้รู้เเละเห็นภาพรวมของรายวิชาหรือประเด็นที่จะเรียนรู้ มาก่อนล่วงหน้า โดยการอ่านเค้าโครง ประเด็นหลักๆของวิชานั้นๆมาก่อนที่จะเข้าเรียนรู้จากวิทยากร เนื่องจากเมื่อเข้าสู่กระบวนการเเล้วจะไม่เสียเวลากับการลำดับความคิดหรือตีความเชื่อมโยงในประเด็นที่วิทยากรนำเสนอ
2.เตรียมอุปกรณ์การจดบันทึกให้พร้อม ครบถ้วน สะดวกกับการหยิบใช้ได้ทันท่วงที เช่น ปากกา ดินสอ ยางลบ ปากกาเน้นสี น้ำยาลบคำผิด กระดาษบันทึก ปากกาเมจิก เป็นต้น นอกจากการเตรียมตัวเตรียมอุปกรณ์ที่พร้อมสมบูรณ์เเล้ว การเรียนรู้เเละทักษะการฟัง การจับประเด็น การตีความ การสรุปเชื่อมโยงประเด็นความรู้ต่างๆ
ก็สำคัญ เช่นเดียวกัน โดยมีเทคนิคปฎิบัติ ดังนี้
ทักษะการเรียนรู้
1.การฟังอย่างตั้งใจและ มีสมาธิ ประเด็นนี้สำคัญมากเพราะสิ่งที่หลายๆคนเก็บประเด็นความรู้ไม่ได้หรือได้ไม่ครบถ้วน นั้นส่วนใหญ่เกิดจากการขาดสมาธิในการฟัง ดังนั้นการฟังเป็นปัจจัยสำคัญมาก ควรตัดสิ่งที่จะเป๊นอุปสรรคหรือทำลายสมาธิในการฟังให้ได้มากที่สุด
2.จดบันทึกประเด็นความรู้ในระหว่างวิทยากรบรรยาย โดยจดคำสำคัญ(Key Word) และจดประเด็นย่อยๆในเเต่ละช่วงของการบรรยาย ไว้ในสมุดบันทึกหรือกระดาษที่เตรียมไว้ หรือใช้เครื่องมือ แผนที่ความคิด(Mind Map)ในการจดบันทึกจะดียิ่งขึ้น เทคนิคการเขียนแผนที่ความคิดแบบง่ายสุด คือ หาประเด็นหลักของเรื่องแล้วกำหนดเป็นแก่นกลางของ Mind Map ประเด็นรองลงมาเป็นกิ่งแก้ว ส่วนขยายอื่นๆหรือรายละเอียดหาความสัมพันธ์กับ ประเด็นรองแล้วเขียนต่อเป็นกิ่งก้อย
3.นำประเด็นที่จดบันทึกได้จะด้วยเครื่องมือ Mind Map หรือจดเป็นประเด็น เป็นข้อๆ ก็ตามเเต่นำมาหาความสัมพันธ์หรือเป็นขั้นการสังเคราะห์หาแก่นหลักของความรู้ที่ได้ทั้งหมดเพื่อการนำเสนอในการสังเคราะห์นี้จะเป็นการอธิบายความเชื่อมโยงของประเด็นความรู้ที่บันทึกได้ทั้งหมด โดยต้องพิจารณาว่าข้อมูลหรือประเด็นความรู้นั้น เป็น องค์ประกอบกัน หรือเป็นกระบวนการ หรือเป็นสาเหตุ/ปัจจัย หรือมีความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างไรเพื่อนำเสนอในเชิงระบบ
การนำเสนอสรุปความรู้หรือแก่นความรู้ที่ได้รับหลังการเรียนรู้รายวิชา(LEARNING LOG)
จากเทคนิคการเตรียมตัว เตรียมอุปกรณ์และการมีทักษะในการเรียนรู้และจดบันทึกแก่นความรู้อย่างมีประสิทธิภาพเเล้วการนำเสนอความรู้ที่ได้เป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะจะเเสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าท่านเรียนรู้ได้อะไรมาบ้าง เเก่นอยู่ที่ไหน สัมพันธ์กันอย่างไร และท่านจะนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไรบ้าง ผมขอเสนอรูปแบบการนำเสนอแก่นความรู้เเละเทคนิคการเขียนดังนี้ครับ
1.รูปแบบการนำเสนอ
1)นำเสนอแบบเป็นเนื้อหาล้วนๆ ลักษณะเขียนเป็นร้อยเเก้วเน้นเฉพาะหัวข้อสำคัญ
2) นำเสนอแบบเป็นเนื้อหาล้วนๆ ลักษณะเขียนเป็นร้อยเเก้ว เเบ่งหัวข้อเป็นข้อๆเรียงกันไป
3) นำเสนอแบบเป็นเนื้อหา ใช้แผนที่ความคิดประกอบเพื่อนำเสนอ ความรู้ในภาพรวม
4) นำเสนอแบบเป็นเนื้อหา และใช้แผนภูมิ/แผนภาพประกอบเพื่อนำเสนอ ความรู้ในภาพรวม
5) ทักษะการเขียนเนื้อหาของแก่นความรู้ที่ได้รับหลังการเรียนรู้รายวิชา(LEARNING LOG) การเขียนเนื้อหาของความรู้ก็สำคัญเช่นเดียวกัน ผมมีเทคนิคการเขียนนำเสนอเนื้อหาที่ได้ ดังนี้ครับ
1. พิจารณาก่อนว่าโจทย์กำหนดให้เขียนภายในกี่หน้า ต้องวางเเผนการเขียนก่อนให้สามารถนำเสนอจบภายในจำนวนหน้าที่กำหนด โดยวิธีการ คือ ใช้ร่างในกระดาษบันทึก ตีเป็นหน้ากระดาษจำลองตามจำนวนหน้าที่โจทย์กำหนด ร่างส่วนประกอบต่างๆของเนื้อหาไว้ วางแผนว่าส่วนนำประมาณกี่บรรทัด ส่วนเนื้อหาทั้งหมดกี่บรรทัด มีแผนภูมิหรือแผนที่ความคิดหรือไม่จะวางไว้ตรงไหน ส่วนสรุปแค่ไหนเขียนร่างไว้ในแบบที่ร่าง จากนั้นจึงลงมือเขียน
2.การเขียนต้องเเบ่งสัดส่วนหน้ากระดาษออกเป็น 3 ส่วน ได้เเก่
1) ส่วนนำ เขียนบอกความเป็นมา/ความสำคัญของเนื้อหาความรู้ทีได้ ความยาวของส่วนนำเเล้วเเต่จำนวนหน้าที่โจทย์กำหนด ประมาณ 10% เนื้อหาทั้งหมด
2)ส่วนเนื้อหาหรือขุมความรู้หรือแก่นความรู้ทั้งหมด ต้องเขียนสิ่งที่ได้ ความสัมพันธ์ เชื่อมโยงให้ชัดเจน ควรมีแผนภูมิประกอบเพื่อนำเสนอความคิดรวบยอดที่ชัดเจนความยาวของส่วนนำเเล้วเเต่จำนวนหน้าที่โจทย์กำหนด ประมาณ 70% เนื้อหาทั้งหมด
3) ส่วนสรุป เป็นการสรุปแก่นความรู้สู่การประยุกต์ใช้ ท่านต้องเสนอเเนวคิดเเนวทางว่าท่านจะนำแก่นความรู้ทั้งหมดที่ได้ไปสู่การปฎิบัติอย่างไร และผลที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร มีเป้าหมายที่ชัดเจนวัดผลได้ มีผลกระทบต่อผู้รับบริการและส่งผลเชิงบวกต่อองค์กร
ความยาวของส่วนสรุปเเล้วเเต่จำนวนหน้าที่โจทย์กำหนด ประมาณ 20% เนื้อหาทั้งหมด
จากความรู้ที่กล่าวมาทั้งหมดจะเกิดผลเชิงรูปธรรมได้นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยความสำเร็จ สรุปเป็นขุมความรู้และแก่นความรู้ได้ดังนี้

ขุมความรู้
1.ความตั้งใจ มุ่งมั่นของท่านเอง
2.การมีสมาธิเเละการให้ความสำคัญกับเนื้อหาเเละกระบวนการที่ผู้จัดกำหนด/ มองเห็นประเด็นชัดเจน
3.บรรยากาศการฝึกอบรมที่ผ่อนคลาย
4.การมีส่วนร่วม
5.ความสามารถในการจัดกระบวนการของวิทยากร
6.สื่อประกอบการเรียนรู้ที่ชัดเจน น่าสนใจ

แก่นความรู้
1. จับประเด็นแม่น
2. นำเสนอง่าย
3. เป็นระบบ
4. สื่อความหมายชัด
แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
· แนวคิดการสรุปประเด็น
· การคิดเชิงระบบ
· การใช้แผนที่ความคิด
กลยุทธ์ ฟังอย่างมีสมาธิ จับประเด็น เห็นระบบ

การดำเนินงานจัดการความรู้เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน ปี 2552







การดำเนินงานครั้งนี้ ประยุกต์ใช้ความรู้ และแนวคิดในเชิงบูรณาการ ดังนี้ 1) แนวคิดด้านการจัดการความรู้ประยุกต์ใช้ระหว่างแนวคิดของ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันการจัดการความรู้เพื่อสังคม และแนวคิดของ Nonaka โดยมีความเชื่อว่าความรู้ทั้งมวลในการปฏิบัติงานอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) จึงจำเป็นต้องสกัดเป็นความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) เผยแพร่ความรู้ให้คนในองค์กรได้เรียนรู้กันอย่างสม่ำเสมอเพื่อการพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพต่อไป 2) นำแนวคิดตามหลักการจัดการความรู้ (KM Process) 7 ขั้นตอน ของสำนักงาน ก.พ.ร. ภายใต้หลักการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management Process) เป็นกรอบการดำเนินงาน ดังนี้




KM PROCESS
1. การค้นหา/บ่งชี้ความรู้



2.การสร้างและ แสวงหาความรู้
3.การจัดการความรู้ให้เป็นระบบ
4.การประมวลและกลั่นกรองความรู้
5.การเข้าถึงความรู้
6.การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้



7. การเรียนรู้



สรุปสาระและขั้นตอนการดำเนินการ การดำเนินงานมีกระบวนการ/ขั้นตอน สรุป ได้ ดังนี้
1) การทบทวนยุทธศาสตร์การจัดการความรู้กรมการพัฒนาชุมชนที่ผ่านมา
2) การปรับปรุงโครงสร้างคณะทำงานจัดการความรู้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์
3) การวิเคราะห์ (SWOT) องค์กรและบุคลากรด้านการจัดการความรู้เพื่อกำหนดแผนยุทธศาสตร์การจัดการความรู้ ปี 2551-2554
4) การกำหนดความรู้ที่จำเป็นในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน ปี 2552
5) การจัดทำแผนยุทธศาสตร์/แผนงาน/กิจกรรม/โครงการและกำหนดตัวชี้วัดกิจกรรมโดยคณะทำงานจัดการความรู้ทุกคณะ
6) การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะนักจัดการความรู้ประจำปี 2552
7) การพัฒนาช่องทางการสื่อสารความรู้ไปสู่บุคลากรทั่วทั้งองค์กร
8) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และจัดเก็บความรู้ของเจ้าหน้าที่ฯผู้มีผลการปฏิบัติงานดีเด่นการพัฒนาความรู้เป็นข้อมูลสารสนเทศและพัฒนาเป็นสื่อ



9) อิเล็กทรอนิกส์ ส่งผ่านความรู้ด้วยระบบเครือข่าย Internet และระบบ OA



10) การจัดเวทีสรุปบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศและนวัตกรรมของผู้ปฏิบัติงานดีเด่น ในงาน CD DAY : จากรากหญ้าสู่รากแก้วการสรุปบทเรียน และนำผลการดำเนินงานไปปรับปรุงกระบวนงานจัดการความรู้ ปี 2553 ต่อไป



ผลสำเร็จของงาน (ปริมาณ/คุณภาพ) ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาสรุป ดังนี้
1) กรมฯ มีแผนยุทธศาสตร์การจัดการความรู้ ระหว่างปี 2551- 25554 2) แผนการจัดการความรู้ประจำปี 2552 ได้รับการปฏิบัติครบ 100 % 3) มีองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่จัดเก็บและเผยแพร่ 3 องค์ความรู้ 4) มีช่องทางการสื่อสารความรู้เพิ่มขึ้น ได้แก่ ระบบ OA และ www.Gotoknow .org 5) มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคลากรกรมฯ กับหน่วยงานภายนอก 2 ครั้ง



การนำไปใช้ประโยชน์ มีดังนี้ บุคลากรของกรมการพัฒนาชุมชนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่จำเป็นในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ และ มีช่องทางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการปฏิบัติงานที่ดี เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการทำงานของตนให้ดียิ่งขึ้น

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ความรู้เรื่อง การเขียนข้อเสนออย่างไรให้ได้คะเเนนดี(สอบ นพก./8ว/ชำนาญการพิเศษ)




การสอบคัดเลือกหรือเเข่งขันเพื่อเข้ารับการบรรจุในตำเเหน่งที่สูงขึ้น หรือสอบคัดเลือกเข้าสู่หลักสูตรที่สำคัญของกรมการพัฒนาชุมชน เป็นข้อตกลงที่เราทราบกันดีถึงกฎเกณฑ์ข้อนี้ดี หลายท่านผ่านสนามลักษณะนี้มาเเล้ว ซึ่งมีทั้งดีใจเเละเสียใจ ปะปนคละเค้ากันไปแล้วเเต่ใครจะได้รับโอกาสนั้น ผมเป็นคนหนึ่งที่ผ่านกระบวนการเหล่านั้นมา เครื่องมือที่กรมฯใช้วัดศักยภาพก็คือ กระบวนการสอบคัดเลือก เป็นสนามเเห่งภูมิปัญญาที่เปรียบกับนักศึกษาที่เรียนมหาวิทยาลัยก็คือ การสอบประมวลความรอบรู้ ที่ผ่านมาลักษณะข้อสอบที่เป็นการวัดความสามารถของผู้สมัครคัดเลือก คือ การสอบเขียนข้อเสนอ วิสัยทัศน์ หรือการอธิบายแนวความคิดในการนำนโยบายขององค์กร สู่การปฎิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม การทำข้อสอบในลักษณะนี้ คงไม่มีสูตรสำเร็จว่าเเบบไหนดีที่สุด แต่ที่ผ่านมา ผมสอบผ่านมาทุกครั้ง นับเเต่ นพก. 7ว. นพส. เเละ8ว หรือชำนาญการพิเศษ ผมมีหลักการคิดเเละเขียนหรือทำข้อสอบลักษณะนี้ ดังต่อไปนี้


1.ตีโจทย์ให้เเตกว่าผู้ออกข้อสอบต้องการอะไร อยากเห็นอะไร สถานการณ์ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เป้าหมายที่รัฐบาลหรือกระทรวง กรมฯ ต้องการคืออะไร 2.เมื่อรู้ความต้องการจากข้อ 1 เราต้องพิจารณาต่อไปว่าเเล้วฟังชั่น(ภารกิจของกรมฯ)เกี่ยวข้องอย่างไร มีประเด็นยุทธศาสตร์รองรับหรือไม่ ถ้ามีกรมกำหนดนโยบายหรือเเนวทางการดำเนินงานไว้อย่างไร มีกลไกอะไรเป็นตัวขับเคลื่อน ประเด็นนี้เป็นการหา ACTER ในการทำงานนั่นเอง เช่น นโยบายเรื่องความปรองดองเเนวทางของกรมฯเน้นให้เครือข่ายการพัฒนาชุมชนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ ดังนั้นในการเขียนข้อเสนอจำต้องออกแบบกระบวนงานที่เป็นการขับเคลื่อนเชิงบูรณาการของเครือข่ายการพัฒนาชุมชนกับเจ้าหน้าที่ภาคีการพัฒนา เป็นต้น สรุปแล้วขั้นตอนนี้คือ หากลไกตามเเนวทางของกรมฯเข้ามาACTION ให้งานบรรลุ นั่นเอง
3.เมื่อมีกลไกการทำงานตามข้อ 2 สิ่งที่ผู้จัดทำข้อเสนอ ต้องเขียนให้ชัดเจน คือ เราจะส่งเสริมให้ACTER เหล่านั้นขับเคลื่อนงานให้บรรลุได้อย่างไร นั้นคือ การเขียนกระบวนงานให้บรรลุเป้าประสงค์นั่นเอง 4.ภายใต้การขับเคลื่อนของACTER ที่กล่าวมาเรา ในฐานะผู้สนับสนุน ประสานงานจะPOSITIONING บทบาทตัวเองไว้อย่างไร 5.ลักษณะการเขียนให้เรียงร้อยเป็นกระบวนงานตามวงจรการปฎิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ คือ P D C A เเละมีกรอบงานในการหนุนเสริมกระบวนงานให้รัดกุมยิ่งขึ้นด้วย A D L I 6.การเขียนข้อเสนอในส่วนกระบวนการขับเคลื่อนต้องแสดงให้เห็นถึง การวางแผน การถ่ายทอดสู่การปฎิบัติ การมอบหมายหน้าที่ การตรวจสอบติดตาม การพัฒนาทีมงาน การจัดการความรู้เเละการนำบทเรียนมาปรับปรุงกระบวนงานใหม่ 7. ควรมีภาพเเผนภูมิ ชาร์ท แผนผังความคิดประกอบจะทำให้ผู้ตรวจข้อสอบจับCONCEPT ได้เร็วเห็นภาพเชิงรูปธรรมมากขึ้น เอาละวันนี้พอเเค่นี้ก่อนขอรับ ยังมีเเนวเเละเทคนิคอีกมากโขอยู่ เเล้วค่อยว่ากันใหม่นะขอรับ