km

km
กิจกรรมการขับเคลื่อนการจัดการความรู้ในองค์กรของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ

วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ความรู้เรื่อง เทคนิคการจัดหาเงินสมทบกองทุนพัฒนาเด็กชนบท


เจ้าของความรู้ นางสมใจ ลอยชื่น
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญ
สังกัด กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน
เบอร์โทรศัพท์ 089-921-8227
เป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ การช่วยเหลือเด็กยากจนและด้อยโอกาส
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2546
สถานที่เกิดเหตุการณ์ จังหวัดสมุทรปราการ

เมื่อต้นปี 2546 ดิฉันย้ายการปฏิบัติราชการจากอำเภอพระประแดง มาปฏิบัติราชการที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ โดยได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่นักวิชาการพัฒนาชุมชน 5 กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน รับผิดชอบงานองค์กร กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และงานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้ง รับผิดชอบการดำเนินงานกองทุนพัฒนาเด็กชนบทในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งจัดได้จัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 เพื่อเป็นกองทุนให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนอายุแรกเกิด ถึง 6 ปี ที่ยากจนและด้อยโอกาส ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนได้มอบหมายให้ทุกจังหวัดดำเนินการ ดิฉันเคยได้รับผิดชอบงานนี้มาก่อนแต่เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำดิฉันก็ตั้งใจจะทำให้ดีที่สุด เสน่ห์ของการดำเนินงานกองทุนพัฒนาเด็กชนบท คือ ทำแล้วมีความสุขที่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาส โจทย์ที่ดิฉันตั้งไว้ คือ จะทำอย่างไรจึงจะหาเงินเข้าสมทบกองทุนให้ได้มากที่สุด เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือเด็กยากจนและด้อยโอกาสของจังหวัดตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ
เมื่อรับผิดชอบงานกองทุนพัฒนาเด็กชนบทของจังหวัดฯ ประเด็นแรกของดิฉันในการศึกษางานนี้ คือ สืบค้นแฟ้มงานที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่โครงการกิจกรรมจัดหาทุน การใช้จ่ายเงินทุนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ พร้อมทั้งศึกษาระเบียบแนวทางปฏิบัติและหนังสือสั่งการของกรมการพัฒนาชุมชนโดยละเอียดพร้อมทั้งปรึกษาผู้บังคับบัญชาทำให้ดิฉันมีความเข้าใจการดำเนินงานกองทุนพัฒนาเด็กชนบทมากขึ้น
จากการศึกษาพบว่า เงินกองทุนได้มาจากการจัดงานทอดผ้าป่าสมทบกองทุนพัฒนาเด็กชนบทปีละ 1 ครั้ง ได้เงินประมาณ 5 – 6 หมื่นบาท จัดตั้งตู้รับบริจาคสมทบกองทุนตามห้างสรรพสินค้าและธนาคารภายในจังหวัด จากนั้นดิฉันก็นำข้อมูลที่ได้มาประยุกต์ใช้และวางแผนการดำเนินงานกองทุนพัฒนาเด็กฯ โดยได้ปรึกษาหารือกับผู้บังคับบัญชา และได้ออกไปติดตามดูว่าตู้บริจาคตั้งอยู่ที่ไหนบ้างและได้ไปพบกับผู้บริหารหรือผู้แทนของสถานที่ที่เราไปตั้งตู้รับบริจาค และขอความร่วมมือสนับสนุนการจัดหาทุน ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี การดำเนินงานไม่ใช่ว่าจะสำเร็จราบรื่นเสมอไป สถานประกอบการ / ธนาคารบางแห่ง มีการส่งคืนตู้บริจาคโดยให้เหตุผลว่าเป็นนโยบายของผู้บริหาร และทำบันทึกเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดประสานสถานประกอบการ / ธนาคารอื่น ๆ ขอจัดวางตู้รับบริจาค โดยในครั้งแรกก็ประสานโดยวาจาก่อนถ้าเขาไม่ขัดข้องก็ทำเป็นหนังสือโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ลงนาม ขณะนี้มีตู้รับบริจาคที่วางตามห้างสรรพสินค้าและธนาคาร จำนวน 11 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 3 แห่ง และเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา ดิฉันได้ไปประสานห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส สาขาศรีนครินทร์ ขอวางตู้รับบริจาคฯ ครั้งแรกไปประสานด้วยวาจา และได้ทำหนังสือจากผู้ว่าราชการจังหวัดไปประสานอีกครั้ง ทางผู้บริหารห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส สาขาศรีนครินทร์ไม่ขัดข้องและอนุญาตให้จัดวางตู้รับบริจาครวมทั้งได้จัดกิจกรรม “มื้อนี้ พอเพียง” ขึ้นที่ศูนย์อาหารห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส สาขาศรีนครินทร์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 และมีความประสงค์จะมอบเงินสมทบกองทุนพัฒนาเด็กชนบทในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุนต่อไป โดยได้เรียนเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ (นายสุรชัย ขันอาสา) ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเด็กชนบทในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จังหวัดสมุทรปราการ เป็นผู้รับมอบ ปัจจุบันจังหวัดสมุทรปราการมีเงินสมทบกองทุนทั้งสิ้น 1,685,899.31 บาท (หนึ่งล้านหกแสนแปดหมื่นห้าพันแปดร้อยเก้าสิบเก้าบาทสามสิบเอ็ดสตางค์) และในปี 2552 ได้ให้ความช่วยเหลือเด็กยากจนและด้อยโอกาสจำนวน 128 ทุน ๆ ละ 1,200 เป็นเงิน 153,600 บาท(หนึ่งแสนห้าหมื่นสามพันหกร้อยบาทถ้วน)
ดิฉันมีความภาคภูมิใจมากที่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการจัดหาทุนและสามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องของการจัดหาเงินเข้ากองทุนได้สำเร็จ
ขุมความรู้
1. สืบค้นรายละเอียดจากแฟ้มงานและศึกษาให้เข้าใจ
2. วางแผนการดำเนินงาน
3. แสวงหาความร่วมมือจากภาคีการพัฒนา
4. ปรึกษาหารือกับผู้บังคับบัญชา
5. ประสานโดยวาจาก่อนถ้าเขาไม่ขัดข้องก็ทำเป็นหนังสือ
6. จัดตั้งตู้รับบริจาคสมทบกองทุนตามห้างสรรพสินค้าและธนาคารภายในจังหวัด
7. ทำบันทึกเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดประสานสถานประกอบการ / ธนาคารอื่น ๆ ขอจัดวางตู้รับบริจาค
แก่นความรู้
1. ศึกษา เรียนรู้
2. มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
3. ให้ผู้มีจิตศรัทธาเข้าร่วมจำเนินกิจกรรม
4. ประสานงาน
5. สรุปรายงาน
ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินงานกองทุนพัฒนาเด็กชนบทในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จังหวัดสมุทรปราการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น