km

km
กิจกรรมการขับเคลื่อนการจัดการความรู้ในองค์กรของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ

วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ความรู้เรื่อง เทคนิคการขจัดความประหม่าเมื่อต้องเป็นพิธีกร


เจ้าของความรู้ นายสรสาสน์ สีเพ็ง นักวิชาการฯ ชำนาญการ สพจ.สมุทรปราการ
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่พิธีกร หรือขึ้นกล่าวในโอกาสต่างๆ

การพูด นับเป็นการสื่อสารขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ใช้ทำความเข้าใจกัน คนโดยทั่วไป (ที่ไม่เป็นใบ้) จึงพูดคุยสนทนากันเป็นปกติวิสัยทุกวี่วัน ไม่มีเหตุอะไรที่จะต้องวิตกกังวล หรือตื่นเต้นเมื่อต้องพูดจาปราศรัยกัน
แต่การพูด ก็ทำให้ “งานกร่อย” หรือ “ตกม้าตาย” หรือกระทั่ง “วงแตก” เกิดขึ้นได้ในหลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดต่อหน้าที่ชุมนุมชน หรือเมื่อขึ้นหน้าเวที
สาเหตุก็มาจากความประหม่า คือ การหวาดกลัว หรือไม่ก็เพราะความตื่นเต้น คือ จังหวะเต้นของหัวใจเร็วและรัวจนไม่อาจควบคุมได้ ซึ่งจะนำไปสู่ความสับสน คอแห้ง ปากสั่น มือสั่น กระทั่งขาก็สั่น บางคนบางครั้งสั่นไปทั้งตัว ลืมบทที่เตรียมและซ้อมไว้หมดสิ้น บางทีมีโพยขึ้นไปด้วยก็อุ่นใจ สามารถควบคุมปาก มือ และเท้าไม่ให้สั่น ผู้ฟังก็ไม่มีใครจับได้ แต่เจ้ากระดาษโพยในมือกลับไหวระรัวแทน
อาการที่กล่าวมาทั้งหมด ผู้เขียนเคยผ่านพบมากับตัวเอง ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง จนคิดว่าตัวเราคงไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นพิธีกร หรือผู้ดำเนินรายการ ในงานต่างๆ ทั้งงานที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเสียแล้ว แต่ด้วยภารกิจการงานของนักวิชาการพัฒนาชุมชนที่จำเป็นต้องใช้ “ปาก” เป็นเครื่องมือทำงาน บังคับให้ต้องก้าวผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปให้ได้
ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ใช้การพูดในหลายๆ รูปแบบ เช่น งานพิธีกร ถ้าเป็นแบบบ้านๆ ก็จะเป็นงานบวช งานแต่ง ถ้าเป็นหน่วยราชการก็จะเป็นพิธีกรในการประชุม อบรม สัมมนา งานพิธีการ ตั้งแต่กลุ่มเล็กๆ จนถึงงานระดับชาติที่มีรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงาน ทำหน้าที่สร้างสีสันบรรยากาศให้งานราบรื่นและผู้เข้าร่วมงานมีความสุขเกษมเปรมปรีดิ์ นอกจากนี้ยังมีอีกงานหนึ่งที่ทำต่อเนื่องมาเป็นเวลา ๓ ปี คือ การเป็นโฆษกจัดรายการวิทยุ อย่างน้อย ๓ รายการใน ๓ สถานี เช่น สถานีวิทยุศึกษา (FM 92.5) สถานีวิทยุ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และสถานีวิทยุกรมอุตุนิยมวิทยา (สอต.) มีทั้งจัดสด และจัดแห้ง (คือการไปพูดออกอากาศสดๆ กับการบันทึกเสียงส่งไปออกอากาศ)
พูดถึงการเป็นนักจัดรายการวิทยุ ถ้าจะให้ถูกต้องตามระเบียบว่าด้วยการกระจายเสียง ผู้จัดรายการจะต้องสอบผ่านได้ใบผู้ประกาศจากกรมประชาสัมพันธ์ จึงจะถือว่าเป็นมืออาชีพ สามารถเป็นพิธีกรได้ทั้งรายการวิทยุและโทรทัศน์ (พิธีกรดาราทั้งหลายต้องการกันนักกันหนา) แต่การสอบนี้ ถือเป็นด่านที่นับว่าหินมาก ในการเปิดสอบของกรมประชาสัมพันธ์ครั้งหนึ่งๆ มีองค์กร หน่วยงานต่างๆ จัดส่งบุคลากรเข้าสอบ ๗๐-๘๐ คน แต่มีผู้สอบผ่านไม่เกินสิบ ได้สัก ๖-๗ คนก็นับว่าเก่งแล้ว ผู้เขียนเคยมีโอกาสเดินดุ่ยๆ เข้าไปสอบโดยไม่ผ่านการฝึกอบรมจากองค์กรวิชาชีพใด ไม่ได้ผ่านการติวเข้มหรือเรียนพิเศษเพิ่มเติมจากสถาบันไหน ครั้งนั้นมีผู้เข้าสอบจากทั่วประเทศ จำนวน ๖๓ คน ตั้งแต่นักศึกษาสาขา วิชาวิทยุ จนถึงนักจัดรายการมืออาชีพ เชื่อไหมว่ามีผู้สอบผ่านเพียง ๒ คนเท่านั้นเอง หลังจากครั้งนั้นแล้ว ผู้เขียนยังไม่เคยย่างกรายไปกรมประชาสัมพันธ์เพื่อเข้าสอบใบผู้ประกาศอีกเลย (ไว้มีโอกาสผู้เขียนจะได้เล่าประสบการณ์และถ่ายทอดบทเรียนว่ามีเทคนิคอย่างไรถึงได้เป็น ๑ ใน ๒ คนจากการสอบครั้งนั้น)
วกกลับมาที่เรื่องของอาการประหม่า ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของนักฝึกพูด เกิดจากการที่เรารู้สึกว่า เราได้ตกไปอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ทำให้ไม่มั่นใจ หวาดกังวล ซึ่งเจ้าสิ่งนี้แหละที่จะกลายมาเป็นตัวบ่อนทำลายประเด็นเนื้อหาที่เราเตรียมจะพูดไว้เสียหมดสิ้น สำหรับผู้เขียนนั้นเมื่อได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา หรืออาสาที่จะเป็นพิธีกรไม่ว่าจะเป็นงานใดๆ ประการแรก จะต้องทำความรู้สึกของตนเองให้เกิดความเต็มใจและยินดีที่ได้รับหน้าที่อันมีเกียรตินี้ เพราะความเต็มใจและรู้สึกยินดีจะช่วยปกป้องเราจากความประหม่า พูดง่ายๆ คือ คิดในเชิงบวกว่างานนี้เราเหมาะสมเขาจึงได้มอบหมายให้ ประการที่สอง ศึกษาลำดับขั้นตอนของงานที่เราจะต้องดำเนินกระบวนการ หากเป็นงานพิธีที่เคร่งครัด หรืองานราชพิธี จะต้องดูให้ละเอียดทุกขั้นตอน และดำเนินรายการให้เป็นไปตาม ลำดับขั้นตอนนั้นทุกประการ แต่หากเป็นงานทั่วไปที่มิได้เคร่งครัดนัก ก็มาออกแบบ จัดลำดับขั้นตอนตามความเหมาะสมเพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ทุกๆ ฝ่ายพึงพอใจ
ประการต่อมา หาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ประธานของงาน เจ้าภาพ ผู้กล่าวรายงาน ข้อมูลอื่นๆ เรียกว่า ศึกษาให้รู้ภาพรวมของงาน มองภาพใหญ่ให้เห็น เมื่อเราเป็นพิธีกรก็สามารถหยิบเอาภาพย่อยๆ ในภาพใหญ่มานำเสนอได้ และรู้ว่าควรเสนอข้อมูลใดในบรรยากาศแบบไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ข้อมูลบุคคลสำคัญ จะต้องแม่นยำทั้งชื่อ นามสกุล และตำแหน่งที่ถูกต้อง หากสามารถกล่าวชื่อ-ตำแหน่งได้ถูกต้องโดยไม่ดูโพยจะสร้างความประทับใจได้เป็นอย่างดี ในการหาขอมูลนี้ หากเป็นข้อมูลที่มีมาเพิ่มเรื่อยๆ จำเป็นต้องมีทีม หรือผู้ช่วยคอยจดมาให้ แต่ถ้าเป็นงานที่มีกิจกรรมอื่นประกอบ อาจต้องใช้จังหวะที่มีการแสดงบนเวที ปลีกตัวไปหาข้อมูลด้วยตนเอง ประการสุดท้าย การปิดรายการอย่างมีความหมาย หากเราได้ทำหน้าที่พิธีกรจนจบรายการ (หลายๆ งาน พิธีกรทำหน้าที่เฉพาะช่วงพิธีการ แล้วปล่อยให้เวทีว่ากันเองไปตามบรรยากาศ) ให้คิดว่านั่นเป็นโอกาสที่เราจะได้สร้างความตราตรึงใจแก่ผู้มาร่วมงาน ใช้เวลานี้ในการกล่าวสรุปบรรยากาศดีๆ ที่เกิดขึ้นในงาน กล่าวขอบคุณผู้เกี่ยวข้อง และหาข้อความที่มีความหมายซึ้งๆ มาอำลาพร้อมกับอำนวยพรให้ทุกคนพบกับสิ่งดีๆ หรือจะจบด้วยเพลงสำคัญๆ ก็ได้ ไม่ต้องเยิ่นเย้อแต่เน้นความประทับใจ
จากประสบการณ์การเป็นพิธีกรหลายๆ ครั้ง ผู้เขียนพบว่า ความประหม่าไม่ได้มีสาเหตุจากสภาพแวดล้อมภายนอก หรือบรรยากาศของงานแต่อย่างใด หากแต่เกิดจากความรู้สึกภายในของเราเอง เปรียบเทียบง่ายๆ ในงานหนึ่ง ถ้าเราไปร่วมในฐานะแขกของงานจะรู้สึกสนุกสนานไปกับบรรยากาศ แต่ในงานเดียวกันถ้าเราต้องเป็นพิธีกรความกดดันจะเกิดขึ้นทันที ดังนั้นควรขจัดความประหม่าด้วยการจัดการความรู้สึกของตัวเอง คิดเชิงบวก ว่าเรานี่ช่างโชคดีที่สุดที่ได้มีโอกาสยืนเด่นบนเวทีมากกว่าใครๆ ในงานนั้น.

ขุมความรู้
๑. การพูดเป็นกาสื่อสารขั้นพื้นฐานของมนุษย์
๒. ความประหม่าเกิดจากความรู้สึกภายในของคน ไม่ใช่จากสภาพแวดล้อมภายนอก
๓. การเป็นพิธีกรที่ดี ๑) ต้องยินดีและเต็มใจ ๒) รู้ลำดับขั้นตอน ๓) มีข้อมูล ๔) สรุปจบประทับใจ

แก่นความรู้ การขจัดความหม่าในการเป็นพิธีกร ทำได้โดยการจัดการความรู้สึกของตนเอง คิดเชิงบวก โดยสร้างความรู้สึกยินดีและเต็มใจที่มีโอกาสได้เป็นพิธีกรของงาน

1 ความคิดเห็น: