km

km
กิจกรรมการขับเคลื่อนการจัดการความรู้ในองค์กรของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ

วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ความรู้เรื่อง-งานใหม่มือใหม่ทำอย่างไรจะสำเร็จ


เจ้าของความรู้-นายกู้เกียรติ ญาติเสมอ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการพิเศษ
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ-การทำงานที่ไม่มีประสบการณ์/ไม่มีทักษะความรู้พื้นฐานมาก่อน
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ- ปี2549
เมื่อต้นปี พ.ศ. 2549 ผมย้ายการปฏิบัติราชการจากจังหวัดอุดรธานีมาปฏิบัติราชการที่กรมการพัฒนาชุมชน(กทม.)โดยได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักวิชาการพัฒนาชุมชน 7 ว สำนักส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน รับผิดชอบงานนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน คำรับรองการปฏิบัติราชการซึ่งบอกตรงๆว่างานที่กล่าวมาทั้งหมดผมไม่เคยทำหรือมีประสบการณ์มาก่อนเลยแม้แต่น้อยและงานสำคัญที่ผมถือว่าเป็นงานยากและไม่เคยสัมผัสตั้งแต่ทำงานมากว่า 15 ปี นั่นก็คือ งานวางระบบการจัดการความรู้ของกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งในปีดังกล่าว สำนักงาน กพร. กำหนดเป็นตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการประจำปี และกำหนดเป็นตัวชี้วัดบังคับ ในมิติที่ 4 การพัฒนาองค์กร โดยมีตัวชี้วัดย่อยอีก 3 ตัวพ่วงท้ายมาอีกด้วย ลำพังตัวชี้วัดเดียว ผมมือใหม่เอามากๆๆก็หืดขึ้นคอแล้ว และที่สำคัญปีนั้นเป็นปีแรกที่กรมการพัฒนาชุมชนดำเนินงานจัดการความรู้(KNOWLEDGE MANAGEMENT: KM) อย่างเป็นระบบ สถานการณ์ขณะนั้นบีบหัวใจผมเอาการอยู่ เนื่องจากได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานใหม่ของกรมฯ งานใหม่ของสำนักฯและที่น่าตกใจ คือเป็นงานใหม่เอี่ยมสำหรับผม ซึ่งไม่มีความรู้พื้นฐานมาก่อนแม้แต่น้อย หากมีข้อผิดพลาดหรือตัวชี้วัดระบบการจัดการความรู้ที่ว่านี้ไม่สำเร็จหรือไม่เป็นไปตามเป้าหมายของผู้บังคับบัญชา ที่ตั้งไว้ อะไรจะเกิดขึ้น เป็นโจทย์ที่ยากสุดๆ สำหรับผม ณ ขณะนั้น และนี่เป็นจุดตั้งต้นที่ผมตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะฟันฝ่าอุปสรรคและปัญหาเหล่านี้ให้ได้แม้จะใช้เวลาหรือความพยายามมากน้อยแค่ไหนก็ตามที
เมื่อรับงานการวางระบบการจัดการความรู้มาอย่างเต็มตัวแล้ว ประเด็นแรกของผมในการศึกษางานที่ว่านี้ คือ สืบค้นแฟ้มงานที่คนอยู่ก่อนหน้าทำเอาไว้ ผมอ่านเอกสารในแฟ้มตั้งแต่โครงการ รายละเอียดงบประมาณ ขั้นตอนการดำเนินงาน และเป้าหมายทั้งเชิงผลผลิตและเชิงคุณภาพ ตัวชี้วัดกิจกรรม อ่านแม้กระทั้งบันทึกเสนอต่างๆที่แสดงความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนงาน สิ่งที่ผมได้เรียนรู้คือขั้นตอนการทำงานของโครงการที่ผู้ยกร่างโครงการทำใว้ก่อนผมย้ายมา แต่ก็ไม่แน่ใจนักว่าเมื่อทำตามขั้นตอนของโครงการแล้วระบบการจัดการความรู้ของกรมการพัฒนาชุมชนจะสำเร็จแต่อย่างน้อยก็เป็นแนวทางที่ผ่านการคิดและไตร่ตรองมาพอสมควรแล้ว การศึกษารายละเอียดโครงการจากแฟ้มที่คนเก่าทำไว้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะเห็นภาพรวมของโครงการทั้งหมด แต่หากผู้รับผิดชอบ ไม่เข้าใจงานอย่างลึกซึ้งก็จะเป็นปัญหาไม่รู้จบเช่นเดียวกัน ผมตระหนักปัญหานี้ดีจึงแสวงหาตำหรับ ตำราเรื่องการจัดการความรู้มาอ่านและศึกษาอย่างจริงๆจังๆ ผมหมดเงินไปนับพันบาทในการไปหาซื้อหนังสือประเภท HOW TO ด้านKM มาอ่าน การทำอย่างนี้ทำให้ผมมีความรู้ด้านการจัดการความรู้ที่กว้างขวางขึ้นจากตำราดังกล่าวแต่ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกคือ มีทฤษฎีมากมายแล้วปฏิบัติอย่างไร KM จึงจะเกิดเป็นรูปธรรมในกรมการพัฒนาชุมชน ผมนำความรู้ในแฟ้มงานที่กล่าวมาข้างต้นเชื่อมโยงกับตำราที่ซื้อมาอ่าน (แม้บางเล่มจะเขียนคนละทิศละทางก็ตามที) ทำให้เริ่มเดินงานอย่างคนมีข้อมูลแล้ว เกิดความมั่นใจมากขึ้น ในห้วงเวลานั้นคำถามที่ผมพบบ่อยคือ KM ที่เป็นรูปธรรมเป็นอย่างไร และทำอย่างไรให้สำเร็จ คนในองค์กรเก่งขึ้น งานมีคุณภาพ(เป้าหมาย KM) จังหวะเดียวกันนั้นผู้บังคับบัญชาตัดสินใจจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อมาวางระบบการจัดการความรู้โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นกลยุทธ์การพัฒนางานอย่างหนึ่งในกรณีขาดผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง การเอ้าท์ซอส องค์ความรู้จากภายนอกสามารถแก้ปัญหาและเอื้อให้บุคลากรเกิดการเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆที่บริษัท ผู้เชี่ยวชาญมาพัฒนาต่อยอดให้ ผมยิ่งมั่นใจมากขึ้นเมื่อมีระบบพี่เลี้ยงมาเกื้อหนุน บริษัทที่ปรึกษาดำเนินการสร้างการเรียนรู้โดยทำเวริ์คช็อป ให้เราลองปฏิบัติทุกขั้นตอนผมเริ่มเข้าใจ KM มากขึ้นการได้ฝึกปฏิบัติก่อนแล้ววิทยากรพี่เลี้ยงจึงสรุปหลักการภายหลังเป็นวิธีการที่ทำให้เราเข้าใจกระบวนการและวิธีการมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตลอดการฝึกปฏิบัตินั้นไม่มีการนั่งฟังบรรยายเป็นเวลานานเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทำให้ได้ข้อสรุปว่า การเรียนรู้เรื่อง KM จะเกิดผลดีต้องทำไปเรียนรู้ไปเท่านั้น การจัดกิจกรรมของบริษัทที่ปรึกษาจากการสังเกต พบว่ามีตั้งแต่การ สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายด้วยเกมส์/กิจกรรม การวางตัวของวิทยากร และการใช้สื่อที่สามารถเชื่อมโยงให้เห็นในการปฏิบัติจริงได้ ที่สำคัญการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้ผมเรียนรู้และเข้าใจมากขึ้นว่าการจัดการความรู้ คืออะไร ความรู้ที่เราจะจัดการหมายถึงอะไร มีขั้นตอนอย่างไร และนี่เป็นการเรียนรู้เนื้องานที่รับผิดชอบได้ดียิ่งขึ้น หลังการฝึกอบรม กรมฯและบริษัทที่ปรึกษามอบภารกิจให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกลับไปจัดเก็บความรู้ โดยใช้ทักษะที่ฝึกปฏิบัติจากการอบรมดังกล่าว เป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ไปสู่การปฏิบัติจริง ในการรับผิดชอบงานจัดการความรู้นอกจากผมใช้การศึกษากระบวนงานจากแฟ้มเอกสาร สอบถามเรียนรู้กับผู้รับผิดชอบงานเดิม การศึกษาเพิ่มเติมหลักการต่างๆจากตำราหรือเอกสารแนวทาง การหาพี่เลี้ยงที่ชำนาญหรือเชี่ยวชาญและการต้องลงมือฝึกปฏิบัติจริง จึงเป็นเครื่องมือและวิธีการที่ทำให้ผมทำงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้อย่างเข้าใจมากขึ้น ในขณะเดียวกันการจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญมาเป็นที่ปรึกษาครั้งนี้ผมได้เรียนรู้ทุกขั้นตอนของการก้าวเดินของที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิดด้วยการสังเกต บันทึก ติดตามตลอดทุกกิจกรรม ผมบันทึก รวบรวม ไว้ทั้งหมด ตั้งแต่ กิจกรรม เครื่องมือ เทคนิคการนำเสนอ สื่อต่างๆ และเคล็ดลับการสร้างการเรียนรู้ รวมทั้งติดตามผู้เชี่ยวชาญไปฝึกปฎิบัติทุกขั้นตอนทุกครั้งที่ไปดำเนินการ การจดบันทึกเป็นเครื่องมือแกะรอยการทำงานของผู้เชี่ยวชาญได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผมนำประสบการณ์ที่ได้จากกระบวนการพัฒนาตนเองตามที่เล่ามาทั้งหมด มาเป็นกรอบและกระบวนการในการดำเนินงาน KM ของกรมการพัฒนาชุมชน นับจากวันนั้นเป็นต้นมา
เมื่อถึงปลายปีงบประมาณ ผลการประเมินการจัดการความรู้ของกรมการพัฒนาชุมชน ผ่านการประเมิน ได้ 5 คะแนนเต็ม พร้อมมีหลักฐานเชิงประจักษ์ครบถ้วน เกิดกระแสการพูดคุยเรื่อง KM กันมากขึ้น ผมรู้สึกดีใจที่การลงทุนทั้งเวลา งบประมาณ ที่สนับสนุนให้กรมฯมีระบบการจัดการความรู้เกิดผลสำเร็จในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นปีแรกที่กรมการพัฒนาชุมชนวางระบบ KM อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากผลงานผ่านการประเมินของ สำนักงาน กพร. แล้ว ผมภูมิใจที่การพัฒนาตนเองของผมให้เรียนรู้งานใหม่ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนเกิดความรู้และทักษะด้านการจัดการความรู้มากกว่าเดิม เข้าใจ และสามารถปฏิบัติได้ และที่สำคัญสามารถถ่ายทอดทั้งกระบวนการ เทคนิควิธี ของการจัดการความรู้ ได้เป็นอย่างดี จนปัจจุบัน ผมมีโอกาสได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร KM ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนและชุมชน รวมทั้งมหาวิทยาลัย ที่ผมก้าวเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย จากความสำเร็จนี้ทำให้ผมทีทัศนคติที่ดีกับงานใหม่ๆที่ไม่เคยทำและท้าทาย เสมือนเครื่องมือที่ทำให้ผมต้องกล้าที่จะเรียนรู้และพัฒนาทั้งทักษะความรู้จนเกิดเป็นความชำนาญและสามารถแก้ปัญหาในงานได้ในที่สุด
ขุมความรู้
1. สืบค้นรายละเอียดงานจากแฟ้มงาน(ความเป็นมา/เรื่องเดิม/แนวทาง)และศึกษาให้ชัดเจน
2. สืบค้นข้อมูล/พูดคุยกับผู้ที่รับผิดชอบเดิม(ที่มีประสบการณ์มาก่อน)
3. จดบันทึกกระบวนการ/ขั้นตอน/วิธีการจากผู้รู้หรือผู้รับผิดชอบเดิม
4. ศึกษาเอกสารตำราเพิ่มเติมเพื่อความลึกซึ้งและมองภาพรวมจากความรู้ที่เป็นสากล
5. ฝึกปฏิบัติ ทำไปเรียนรู้ไปแก้ปัญหาไป บันทึกข้อผิดพลาด/วิธีการแก้ปัญหาได้สำเร็จ
6. เชื่อมโยงหลักการตามตำรากับสถานการณ์และผู้เชี่ยวชาญ
7. สร้างและใช้ระบบพี่เลี้ยงหรือเอ้าท์ซอส ความรู้จากภายนอก
แก่นความรู้
1. ไฝ่เรียนรู้(ด้วยตนเอง)
2. ฝึกปฏิบัติ(ทักษะ)จริงจัง
3. ตำราวิชาการหนุนเสริมความเข้าใจ
4. สร้างระบบพี่เลี้ยงหรือมีทีมที่ปรึกษา
แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
แนวคิดด้านการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง การสร้างความรู้ และการพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ
กลยุทธ์
“ใฝ่รู้ ลองทำ นำหลักการ ประสานคนเก่ง เร่งสร้างระบบพี่เลี้ยง “

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น