km

km
กิจกรรมการขับเคลื่อนการจัดการความรู้ในองค์กรของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ

วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ความรู้เรื่อง เทคนิคการปฏิบัติตนให้ชาวบ้านยอมรับและศรัทธา


เจ้าของความรู้ นายณรงค์ รมยะสมิต ผู้นำชุมชนต้นแบบ ต.บางเพรียง
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ ผู้นำชุมชนใหม่ชาวบ้านไม่เชื่อมั่นและขาดศรัทธา
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ ปี 2527
นายณรงค์ รมยะสมิต อายุ 63 ปี เป็นคนชุมชนบางเพรียง อำเภอบางบ่อ
จังหวัดสมุทรปราการ ลุงเป็นนักต่อสู้อย่างเเท้จริง ด้วยบุคลิกที่ฉับไว การพูดคมคาย จับประเด็นในการสนทนาเเม่นเหมือนจับวาง ผมจึงถือโอกาสแอบถอดบทเรียนลุงณรงค์ขณะมีเวลาว่างจากการเข้าร่วมกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการกองทุน กข.คจ.(โครงการเเก้ไขปัญหาความยากจน) ซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการจัดขึ้น ที่ห้องประชุม อบจ.เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2553 ความรู้หรือประสบการณ์ที่ลุงณรงค์ต้องการถ่ายทอดและเล่าสู่กันฟังในบทบาทของนักพัฒนาภาคประชาชน คือ เทคนิคการปฏิบัติตนให้ชาวบ้านยอมรับและศรัทธา ลุงเล่าว่าเดิมที่เข้ามารับตำแหน่งผู้นำชุมชน ชาวบ้านยังไม่ให้ความร่วมมือมากนัก การมีส่วนร่วมน้อยมาก ลุงต้องลงมือเองทุกครั้งในการทำงานให้ชุมชน การเดินไปชักชวนให้มาประชุมหรือมาทำงานเพื่อส่วนรวมมักไม่ได้รับความสนใจ จนหลายครั้งลุงเกิดความท้อถอยและอยากลาออกจากตำแหน่งเพื่อตัดปัญหา แต่ด้วยบรรพบุรุษรุ่นก่อนของลุงเป็นผู้นำชุมชนมาหลายรุ่น การถอดใจแบบนี้ไม่ดีแน่ ดังนั้นลุงจึงฮึดสู้เพื่อแก้ปัญหานี้อีกครั้ง
การสร้างศรัทธาในตัวชาวบ้านและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชุมชน จึงเป็นโจทย์ที่ลุงเพรียงวิเคราะห์แล้วว่าเป็นสาเหตุหลักหรือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ได้ใจชาวบ้านและหันมาร่วมมือพัฒนาท้องถิ่นด้วยความเต็มอกเต็มใจในที่สุด ลุงเป็นคนพื้นเพที่บางเพรียงแห่งนี้ เป็นลูกเกษตรกรเต็มขั้น พื้นที่ทำกินเดิมเป็นทุ่งนากว้างใหญ่ มีเป็นพื้นที่ป่าอยู่บ้างก็คือป่าเเสม และต้นจาก กว่าครึ่งชีวิตลุงทำนามาตลอดจนปี พ.ศ. 2510 จึงหันมาเลี้ยงปลาสลิดเฉกเช่นเกษตรกรคนอื่นๆในระแวกเดียวกัน ลุงเล่าว่าต้องต่อสู้กับภาวะวิกฤตหลายต่อหลายครั้ง ต้นทุนการเลี้ยงปลาสูงขึ้น ประกอบกับมีผู้ผลิตมากหลายราย จึงหันมาเลี้ยงปลาเบญจพันธ์แทน (ผมไม่แน่ใจว่า เบญจพันธ์ สะกดแบบนี้หรือไม่ แต่ลุงบอกว่ามันหมายถึงการเลี้ยงปลาหลายๆชนิดในที่เดียวกัน เช่น ปลาตะเพียน ปลายี่สก ปลาจีน ปลาหัวโต เป็นต้น) ชีวิตเริ่มดีขึ้นและได้รับการยอมรับจากชุมชนที่เป็นผลจากการประกอบอาชีพเป็นตัวอย่างที่ประสบผลสำเร็จให้ชาวบ้านเห็น กว่าจะทำให้ชาวบ้านเชื่อมั่นลุงใช้เวลาในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยมีเทคนิคการได้ใจชาวบ้านดังนี้

วิธีการ(เทคนิคการปฏิบัติตน)
1. ต้องมุ่งมั่นประกอบอาชีพให้ประสบผลสำเร็จเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านได้เห็นก่อน
2. การที่ชาวบ้านเขาเห็นสิ่งใดที่ไม่ถูกไม่ควร สิ่งใดเสียหาย เอามาบอกมากล่าว เพื่อที่จะได้รีบไปแก้ไขปรับปรุง อย่าทำเป็นหูทวนลม อย่าบอกว่าธุระไม่ใช่ ตรงข้าม ถ้าชาวบ้านเขาบอกเขาแจ้ง เขาแนะนำอะไรไปแล้ว ต้องเร่งรีบแก้ไข ดำเนินการโดยพลัน ชาวบ้านเขาก็ประทับใจ
3. ทำงานช่วยชาวบ้านหรือสนับสนุนการประกอบอาชีพของเขาอย่างสม่ำเสมอ
4. รับอาสาเมื่อชาวบ้านมีความจำเป็นและร้องขอความช่วยเหลือ
5. ต้องไม่นิ่งดูดาย ในชุมชนมีกิจกรรมใดๆไม่ว่าจะมาจากหน่วยงานไหนมีงบประมาณหรือไม่มี ลุงจะออกหน้าอาสารับผิดชอบเสมอ
6. ต้องเป็นที่ปรึกษาให้ชาวบ้านได้ทุกๆเรื่อง รวมทั้งร่วมกับเขาแก้ไขอย่างจริงใจ
7. การปฏิบัติตนก็สำคัญ คุณธรรม จริยธรรม โปร่งใส และเสียสละเสมอ
8. หมั่นเยี่ยมเยียน พบปะ สอบถาม แสดงความเห็นอกเห็นใจชาวบ้านจากใจจริง
9. ป้องกันและรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมโดยเฉพาะของชุมชนเป็นที่ตั้ง
10. อยู่กับชาวบ้าน สร้างความคุ้นเคย สร้างความรู้สึกเหมือนเป็นคนในครอบครัว
11. ฟังให้มาก ทำให้มาก พูดให้น้อยลง
12. ให้เกียรติ ให้ความสำคัญ ให้ความมั่นใจกับชาวบ้าน อย่าดูถูกดูหมิ่นชาวบ้าน แม้ด้วยกริยาและท่าทาง
จากเทคนิคการทำงานและการปฏิบัติตนของลุงณรงค์ จนกระทั่งชาวบ้านที่บ้านเพรียงมีความศรัทธา ชื่นชม และให้โอกาสลุงรับตำแหน่งผู้นำชุมชนอยู่หลายตำแหน่งทั้งจากอดีต จนปัจจุบัน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ประธานกองทุนต่างๆในชุมชน และล่าสุดเป็นประธานสภา อบต.บางเพรียงอีกด้วย ลุงเป็นผู้นำชุมชนที่มองการณ์ไกล และมีวิสัยทัศน์ โดยเสนอแนวคิดในที่ประชุม คณะกรรมการกองทุน กข.คจ. ว่า การเป็นเครือข่ายขององค์กรชุมชนเป็นสิ่งต้องทำ เพราะหากพี่น้องไม่ช่วยกันเองแล้ว ใครที่ไหนจะมาช่วยเรา นั้นคือ ต้องพึ่งตนเองสร้างการเรียนรู้เป็นเครือข่ายให้เข้มแข็งนั่นเอง ปัจจุบันลุงส่งเสริมชาวบ้านปลูกข่า จำหน่ายสร้างรายได้ให้ชุมชนเป็นกอบเป็นกำ ฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนให้พี่น้องบางเพรียง ยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องก่อเกิดความรัก ศรัทธาและเชื่อมั่นลุงณรงค์จนทุกวันนี้

ขุมความรู้
1. ประสบผลสำเร็จเป็นตัวอย่าง
2. เอาใจใส่เร่งรีบช่วยเหลือ
3. จิตอาสา
4. คุณธรรม จริยธรรม
5. ให้คำปรึกษาใกล้ชิดทุกเรื่อง
6. ปกป้องผลประโยชน์ชุมชน
7. สร้างความคุ้นเคย ฟังมาก ทำมาก พูดน้อย
8. ให้เกียรติ ให้ความสำคัญ
แก่นความรู้
1. เป็นต้นแบบ
2. จิตอาสา(เสียสละ)
3. คุณธรรม
4. ให้คำปรึกษา
5. นำพาผลประโยชน์
กลยุทธ์
“เป็นต้นแบบ จิตอาสา พาคุณธรรม ให้คำปรึกษา นำพาผลประโยชน์ “
แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
· ภาวะผู้นำ
· คุณลักษณะของผู้นำที่มีประสิทธิภาพ
ผู้บันทึกความรู้ นายกู้เกียรติ ญาติเสมอ หัวหน้ากลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน สพจ.สมุทรปราการ
วันที่บันทึก 22 มีนาคม 2553 ห้องประชุม อบจ.สมุทรปราการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น