km

km
กิจกรรมการขับเคลื่อนการจัดการความรู้ในองค์กรของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ

วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

ความรู้เรื่อง การจัดเก็บข้อมูล จปฐ.ในพื้นที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์


เจ้าของความรู้ นางสาวปวีณรัตน์ บุตรวงศ์
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพระสมุทรเจดีย์
เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวก 0-2453-7144
แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ การจัดเก็บข้อมูล จปฐ.ให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเสร็จทันตามกำหนดเวลา
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น พ.ศ. 2552 อำเภอพระสมุทรเจดีย์
การจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน(จปฐ.) เป็นงานนโยบายกระทรวงมหาดไทยที่มอบหมาย ให้กรมการพัฒนาชุมชน รับผิดชอบดำเนินการจัดเก็บข้อมูลเป็นประจำทุกปี ซึ่งการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. จะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานบริหารการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ระดับจังหวัด ระดับอำเภอและระดับตำบล เป็นทีมงานขับเคลื่อนการจัดเก็บข้อมูลและประมวลผลเป็นภาพรวมที่แสดงให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนในแต่ละปี เดือนมิถุนายน 2552 ข้าพเจ้าถูกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพระสมุทรเจดีย์ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ไม่ดีนัก เพราะมีคนหลายๆ คนเคยบอกเล่าว่าพื้นที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์ทำงานยาก บางพื้นที่ต้องเดินทางด้วยเรือและบางวันมีน้ำทะเลหนุนท่วมถนนทางเข้าอำเภอทำให้การเดินทางลำบาก เป็นน้ำเค็มกลัวว่ารถจะผุพังเร็ว และผู้คนอยู่ในเขตเมืองไม่มีเวลาร่วมกิจกรรม แต่ด้วยที่ว่าเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอพระสมุทรเจดีย์ชุดเดิม 3 คน ได้ย้าย ลาออก และเกษียณราชการก่อนกำหนด ทั้ง 3 คน จังหวัดจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนชุดใหม่ 2 คนลงพื้นที่เหมือนลงไปงมเข็มในมหาสมุทรยังไง ยังงั้นแต่อีกนัยหนึ่งก็เหมือนเป็นการท้าทายความสามารถ การจัดเก็บข้อมูล จปฐ. เป็นภารกิจหนึ่งที่สำนักงานพัฒนาชุมชน ต้องประสานการจัดเก็บข้อมูลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เป็นประจำทุกปี ระยะเวลาในการจัดเก็บข้อมูลและบันทึกข้อมูลประมาณ 3 เดือน ซึ่งน้อยมากในสำหรับการที่จะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน สำหรับในเขตพื้นที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์ เป็นพื้นที่ติดกับทะเลมีลำคลองผ่านหมู่บ้าน ชาวบ้านต้องเดินทางด้วยเรือ หรือพื้นที่บางตำบลก็อยู่ติดเขตกับกรุงเทพมหานคร แต่ละพื้นที่อยู่ห่างไกลอำเภอ การเดินทางต้องใช้เวลานาน ส่วนที่อยู่ใกล้อำเภอก็จะพบปัญหาประชากรแฝง ชุมชนแออัด บ้านเช่า จราจรติดขัด การที่ข้าพเจ้าได้มาปฏิบัติงานตรงนี้ จึงต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นเพราะยังไม่รู้ว่าพื้นที่แต่ละหมู่บ้าน/ตำบล อยู่ที่ไหนต้องเดินทางไปมาอย่างไรซึ่งในช่วงแรกจึงต้องศึกษาชุมชนและศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนซึ่งมีความหลากหลาย และพบว่าผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม อาชีพรอง คือการประมง ได้แก่ เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา เลี้ยงหอยแครง การที่คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมทำให้ไม่มีเวลาเข้าร่วมกิจกรรมหรือร่วมประชุมกับหน่วยงานต่างๆ ในวันทำการ การจัดประชุมส่วนใหญ่จึงต้องเป็นช่วงเลิกงานตอนเย็นหรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือเวลาที่ชาวบ้านสะดวก ฉะนั้นจึงต้องมีการวางแผนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบเพราะถ้าอย่างนั้นจะทำให้เสียทั้งเวลาและงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ จากการที่ได้ลงพบปะ พูดคุยหรือสอบถามข้อมูลจากผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้นำอช./อช.ผู้นำชุมชน และกลุ่ม/องค์กรต่างๆ ในพื้นที่ ในการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ซึ่งในปีที่ผ่านมาการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ล่าช้ามากไม่ทันตามกำหนด จากการพูดคุยทำให้ทราบว่า ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำส่วนใหญ่รู้ว่ามีการจัดเก็บข้อมูล จปฐ.ทุกปี แต่เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บ ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำ ไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่แรก และอีกอย่างคือมีความขัดแย้งทางความคิดกันจึงไม่ให้ความร่วมมือ อปท.จัดประชุม ผู้ใหญ่บ้านก็ไม่เข้าร่วมประชุม เมื่อมีการบันทึกและประมวลผลข้อมูล จปฐ. ข้อมูลจึงไม่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายปกครองหมู่บ้าน มีการถกเถียง โต้แย้งกัน เพื่อให้การดำเนินการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. เป็นไปด้วยความถูกต้อง สมบูรณ์ได้ข้อมูลจากพื้นที่อย่างแท้จริงจึงได้กำหนดการดำเนินงาน ดังนี้
1. การวางแผนการปฏิบัติงานและการประชุม
1.1 ปรึกษาหารือกับพัฒนาการอำเภอร่วมกันวางแผนและจัดทำแผนปฏิบัติงานเพื่อลงไปสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่
1.2 ทำหนังสือแจ้งหน่วยงานภาคีพัฒนา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้รับทราบกำหนดระยะเวลา และการสนับสนุนงบประมาณการจัดเก็บข้อมูล จปฐ.
1.3 แต่งตั้งคณะทำงานบริหารการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ระดับอำเภอ ระดับตำบล เพื่อสนับสนุนการจัดเก็บข้อมูลฯ
1.4 จัดประชุมคณะทำงานบริหารการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ระดับอำเภอ ระดับตำบล และอาสาสมัครโดยการประชุมเป็นรายตำบล และฉายวีดีทัศน์การจัดเก็บข้อมูลให้ดู
2. การจัดเก็บข้อมูล จปฐ.
2.1 การจัดเก็บข้อมูล จปฐ.ในพื้นที่ห่างไกลและเดินทางด้วยเรือ ต้องมีการเตรียมการตั้งแต่เนิ่นๆ การจัดประชุมชี้แจงและจัดเก็บ ต้องทำก่อนที่อื่น ซึ่งต้องประสานกำนัน/ผู้ใหญ่บ้านให้คัดเลือกอาสาสมัครที่มีจิตอาสาจริงๆ เสียสละและอดทน โดยแบ่งเป็นโซนหมู่บ้านเพราะบ้านริมคลองอยู่แบบกระจัดกระจาย ให้แต่ละคนรับผิดชอบ มอบหมายให้ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำชุมชนช่วยเหลือสนับสนุน และหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องติดตามอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรับทราบถึงปัญหาอุปสรรค และช่วยกันแก้ไข
2.2 การจัดเก็บข้อมูล จปฐ.ในพื้นที่เขตเมือง ด้วยสภาพของสังคมเมือง และอุตสาหกรรม การจัดเก็บข้อมูลค่อนข้างเจอปัญหาเพราะไม่มีคนอยู่บ้านในวันธรรมดา จะพบกับคนแก่ และเด็ก อยู่บ้านบางคนก็ให้ข้อมูลได้ บางคนก็บอกไม่รู้ หรือไม่ให้ข้อมูลก็มี ซึ่งปัญหาตรงนี้แต่ก่อน อปท.จะจัดหาเด็กว่างานมาจัดเก็บข้อมูลซึ่งอาจจะอยู่นอกหมู่บ้านทำให้เก็บข้อมูลไม่ได้ ตามข้อเท็จจริง และสถานการณ์ทางการเมืองค่อนข้างร้อนแรงแบ่งพรรคแบ่งพวก ถ้าไม่ใช่พวกตนเองมาเก็บข้อมูลก็จะปิดประตู ฉะนั้นในการแก้ไขปัญหาจึงต้องคัดเลือกอาสาสมัครจัดเก็บข้อมูลให้ครอบคลุมทุกฝ่าย และคัดเลือกคนในหมู่บ้านมาเป็นอาสาสมัคร เพราะคนในหมู่บ้านรู้ข้อมูลหมู่บ้านดีกว่าคนอื่น สามารถทำงานวันหยุดได้และติดตามได้ง่าย
3. สนับสนุนการบันทึกและประมวลผล โดยการจัดประชุมเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลเป็นรายตำบล ให้คำแนะนำวิธีลงโปรแกรม การบันทึกข้อมูล วิธีการแก้ไขปัญหาโปรแกรมติดขัดหรือมีปัญหา และติดตามบันทึกข้อมูลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องโดยทางโทรศัพท์ และลงไปช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ จากการที่ทุกฝ่ายได้มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน จากที่พบปัญหาอุปสรรคมากมาย ก็ได้ร่วมกันหาและปรับแนวทางในการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมและรับรู้ในขั้นตอนการดำเนินงานการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ตั้งแต่แรกเริ่มทำให้ปัญหาการจัดเก็บข้อมูล จปฐ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และส่งไม่ทันตามและได้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน สมบูรณ์ และส่งไม่ทันตามกำหนดก็หมดเกิดจากการวางแผนการทำงานร่วมกันของทุกขั้นตอน อย่างเป็นระบบ ขุมความรู้ 1. ศึกษาชุมชน 2. วิถีชีวิตของชุมชน 3. คณะทำงานทุกภาคส่วน 3. การจัดประชุม 5. ปัญหาอุปสรรค
แก่นความรู้ 1. การมีส่วนร่วม 2. การวางแผนการปฏิบัติงาน 3. ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน 4. การแลกเปลี่ยน
กลยุทธ์ในการทำงาน 1. การเตรียมการและวางแผน 2. การประสานงานและการสื่อสาร 3. การสนับสนุนการดำเนินงาน 4. การติดตาม
กฎระเบียบ แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง การมีส่วนร่วม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น