km

km
กิจกรรมการขับเคลื่อนการจัดการความรู้ในองค์กรของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ

วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2553

ความรู้เรื่อง กลยุทธ์ในการทำงานด้านยุทธศาสตร์ของนักการเงินการบัญชี


เจ้าของเรื่อง นางสาวจันทนา วัณณะวัฒนะ
ตำแหน่ง หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ
เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับ การจัดทำคำรับรองการปฎิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553
ภายใต้เงื่อนไขของเวลาและอัตรากำลังที่จำกัด
เหตุการณ์เกิดเมื่อ วันที่ 11 มกราคม - 31 มีนาคม 2553
สถานที่เกิดเหตุการณ์ จังหวัดสมุทรปราการ
ปัจจุบันข้าพเจ้ารับราชการมาแล้วเป็นเวลาประมาณ 25 ปี ครึ่งของชีวิตรับราชการจะทำงานหรือปฎิบัติหน้าที่ที่กรมการพัฒนาชุมชนเกี่ยวกับงานของกองคลังมาโดยตลอด ซึ่งจัดได้ว่ามีความชำนาญและชัดเจนเกี่ยวกับระเบียบกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน การงบประมาณ และการทำงานในช่วงที่ผ่านมาจะทำงานในระดับอำเภอและระดับกรมฯ เท่านั้น ถึงแม้จะเคยทำงานระดับอำเภอในฐานะพัฒนากรและพัฒนาการอำเภอก็จะทำงานในเชิงปฏิบัติหรือภาคสนามมากกว่า จนกระทั่งเมื่อสอบผ่านการคัดเลือกในตำแหน่งนักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการพิเศษ กรมการพัฒนาชุมชนได้มีคำสั่งเลื่อนตำแหน่งข้าพเจ้าจากนักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานการเงิน กองคลัง เป็นนักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ โดยมารายงานตัวเมื่อวันจันทร์ที่ 11 มกราคม 2553 ซึ่งเป็นการทำงานในระดับจังหวัดครั้งแรกและด้านยุทธศาสตร์ด้วย ซึ่งหลายคนคงคิดว่าให้นักการเงินการบัญชีมาเป็นนักยุทธศาสตร์จะทำได้หรือไม่เป็นคำถามที่ติดอยู่ในใจหลายๆคน ซึ่งสำหรับคนอื่นเรื่องนี้อาจจะไม่ยากและไม่ท้าทาย แต่สำหรับข้าพเจ้า เป็นงานที่ไม่คุ้นเคย และคิดเสมอว่าจะต้องทำให้ได้เพราะทุกอย่างไม่ยากและเกินความสามรถของความพยายามและความตั้งใจ
งานแรกที่ท้าทายความสามารถก็คือ การจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ซึ่งจะต้องทำให้ทันส่งกรมฯ ภายในวันจันทร์ที่ 15 มีนาคม 2553 เพื่อลงนามคำรับรองการปฏิบัติราชการฯ ระหว่างอธิบดีฯ กับพัฒนาการจังหวัดต่อจากนั้นก็จะเป็นการลงนาม คำรับรองการปฏิบัติราชการฯ ระหว่างพัฒนาการจังหวัดกับหัวหน้ากลุ่มงาน หัวหน้าฝ่ายและพัฒนาการอำเภอและระหว่างหัวหน้ากลุ่มงาน หัวหน้าฝ่ายและพัฒนาการอำเภอ กับทีมงาน แต่สำหรับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการได้ลงนามคำรับรองการปฏิบัติราชการฯ ระหว่างพัฒนาการจังหวัดกับหัวหน้ากลุ่มงาน หัวหน้าฝ่ายและพัฒนาการอำเภอ ตั้งแต่วันจันทร์ ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553
เพื่อให้การทำงานสำเร็จ ข้าพเจ้าต้องใช้กลยุทธ์สำหรับการทำงานในครั้งนี้ โดยมีวิธีการ ดังนี้
1. สิ่งแรกที่คิดว่าต้องทำในขณะนั้น คือ ทำอย่างไรที่จะเรียนรู้ทุกอย่างภายในเวลารวดเร็วก็คือ การประชุมทีมงาน ซึ่งมีเพียงคนเดียว คือคุณจินดา รัตนพันธ์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ(ปัจจุบันเป็นพัฒนาการอำเภอพระสมุทรเจดีย์) เป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะเชื่อมระหว่างข้าพเจ้ากับงานยุทธศาสตร์ของจังหวัด และ การจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการฯ จะเป็นการประชุมเพื่อรับทราบกระบวนงานทั้งหมดของงานยุทธศาสตร์ และข้อจำกัดของกลุ่มงานแล้วรับรู้ร่วมกันและเข้าใจกันว่าต้องทำงานเป็นทีมเท่านั้นจึงจะทำให้ทำงานสำเร็จได้ ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีอะไรตรงไหนใครว่างก็ลงมือทำงานชิ้นนั้นถ้าสามารถทำได้และรับรู้ทุกเรื่องเท่ากัน
2. การศึกษาและทำความเข้าใจกับข้อมูลที่ผ่านมาจากแฟ้มเอกสาร ว่าการทำคำรับรองการปฏิบัติราชการฯ ต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง มีแก่นและสาระอะไรบ้าง โดยเฉพาะของปีงบประมาณ พ.ศ.2552 ที่ผ่านมา เพราะรายละเอียดสำคัญๆ คงไม่ต่างกันมากนัก เช่น ยุทธศาสตร์สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดการ วิเคระห์ศักยภาพของสำนักงานพัฒนาชุมชน / กิจกรรมพัฒนาชุมชน การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์และกลยุทธ์ เป็นต้น เพื่อจะได้นำมาเป็นฐานของการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการฯ ในปีนี้ 3. การศึกษารายละเอียดองค์ประกอบตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ เพื่อจะได้รู้ทิศทางการทำงานปีนี้ว่าสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดจะเน้นในประเด็นเรื่องอะไร เพื่อถ่วงค่าน้ำหนักของตัวชี้วัดและเสนอพัฒนาการจังหวัดให้ความเห็นชอบถึงทิศทางการทำงานในปีนี้
4. การประสานงานกับกลุ่มงานกลุ่มงานสารสนเทศ โดยเฉพาะหัวหน้ากลุ่มงาน (นายกู้เกียรติ ญาติเสมอ) ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานด้านนี้ เพื่อให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ เพิ่มเติม ในประเด็นหรือแง่มุมอื่นเพื่อให้ครอบคลุมมากที่สุด นอกจากนี้บางส่วนก็ต้องประสานเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบของกรมการพัฒนาชุมชน (นางยุพดี หาญอักษรณรงค์) โดยตรงเพื่อขอคำแนะนำ
5. ประชุมสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด เพื่อชี้แจงรายละเอียดของตัวชี้วัดตามคำรับรอง การปฏิบัติราชการ และตกลงร่วมกันในการรับเป้าหมายการทำงาน และลงนามคำรับรองการปฏิบัติราชการระหว่างพัฒนาการจังหวัดกับหัวหน้ากลุ่มงาน หัวหน้าฝ่ายและพัฒนาการอำเภอ
6. ประชุมทีมงานกลุ่มงานยุทธศาสตร์ฯ (หรือเรียกว่าพูดคุยกับทีมงานจึงจะเหมาะกว่า) และจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2553 ฉบับสมบูรณ์ แผนที่ยุทธศาสตร์ของสำนักงานพัฒนาชุมชน ข้อเสนอโครงการริ่เริมสร้างสรรค์ เสนอพัฒนาการจังหวัดพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้ง แล้วจึงจัดส่งให้กรมการพัฒนาชุมชนทันภายในวันจันทร์ ที่ 15 มีนาคม 2553
ข้อควรคำนึง
ในการดำเนินการดังกล่าว มีข้อควรคำนึง ดังนี้
1. ต้องมีความเข้าใจและชัดเจนในบริบทของจังหวัดนั้นๆ
2. ต้องเป็นนักประสานและเข้าใจในข้อจำกัด และใช้วิกฤตเป็นโอกาส ในการเรียนรู้งานยุทธศาสตร์
จะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหาในจุดอ่อนของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านหนึ่งมาทำงานอีกด้านหนึ่งที่ไม่ใช้หลัก “ Put the right man into the right job” เป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้บริหารต้องเข้าใจ และยอมรับในบางสิ่งบางอย่างที่อาจจะไม่สมบูรณ์นัก แต่ก็จะเป็นความภูมิใจของผู้ที่ทำงานนั้นว่า “ เราทำได้ ” และเป็นการเปิดโลกทัศน์อีกด้านหนึ่งให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่างมากว่าคำว่า “ การเงิน การคลัง ”
ขุมความรู้
1. การประชุมทีมงาน
2. ทีมงาน
3. รับรู้ร่วมกันและเข้าใจกัน
4. การศึกษาและทำความเข้าใจกับข้อมูลที่ผ่าน
5. การประสานงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น